เภสัชกรใต้ชูป้ายไวนิล ไม่เอา ‘พ.ร.บ.ยา’ หวั่นกระทบความปลอดภัย ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีตัวแทนสหวิชาชีพออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ปรากฏว่าตัวแทนสหวิชาชีพกลับมองว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีปัญหา เช่น การให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยาสามารถจัดการผลิต กระจาย แบ่งบรรจุแก่ผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับยาที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากยาที่ได้รับอาจเกิดอันตรกิริยาต่อกัน (ยาตีกัน, อาหารตียา, สารเคมีอื่นๆ ในร่างกายตีกับยา) การเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ไม่ได้มีการประเมินตามหลักเภสัชศาสตร์ เกิดการแพ้ยา เป็นต้น

ล่าสุดยังคงมีการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา ชมรมเภสัชกรสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น ได้ออกมาแสดงพลังชูป้ายไวนิล แสดงเจตนารมณ์ และทำเครื่องหมายโดยใช้มือไขว้กันเป็นรูปกากบาท ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทบทวน และใช้ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ….ฉบับแก้ไขโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ผ่านความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า โดยกลุ่มดังกล่าวยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่องยืนยันการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ… ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งยังไม่ได้ปรับแก้ตามมติการประชุมของตัวแทนสหวิชาชีพในการประชุมวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ทางกลุ่มได้มีการลงชื่อผู้คัดค้านทั้งหมด 10,137 รายชื่อ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ…… ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอแสดงเจตนารมณ์ยืนยันคัดค้าน เนื่องจากมีหลายประเด็นไม่เป็นไปตามหลักสากล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบยาของประเทศไทย โดยเฉพาะการแบ่งประเภทยา ซึ่งในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ. บัญญัติบทนิยามศัพท์ที่ทำให้เกิดการแบ่งยาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลและไม่เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดยาเป็น 3 ประเภท คือ ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ (ทุกวิชาชีพ) และยาสามัญประจำบ้าน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ต่างแบ่งยาเป็น 3 ประเภท คือ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา (Prescription-Only Medicines) 2.ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย (Pharmacist-Only Medicines) และ 3.ยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง (General Sale List หรือ Over-the-Counter Medicines) เป็นต้น

Advertisement

 

12001977_1124408574276742_1953888258_o

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image