พบ”แมงมุมสันโดษเมดิเตอเรเนียน”พิษรุนแรงถึงตายเตือนระวังเที่ยวถ้ำ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) แถลงข่าว “การค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอเรเนียน (Loxosceles rufescens) ครั้งแรกในประเทศไทย” ในพื้นที่โครงการ อพ.สธ. เขาวังเขมร อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

นายณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน ถือว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากมีพิษรุนแรง แผลที่ถูกกัดคล้ายแมลง ยุง มดกัด หากไม่พบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันทีในระยะ 1-2 วันแผลอาจลุกลามและติดเชื้อได้ ซึ่งมีรายงานในต่างประเทศระบุว่าผู้ที่ถูกกัดบางรายไม่ไปรักษาทันที จนเกิดแผลรุนแรงและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้แมงมุมชนิดดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยังไม่มีรายงานการค้นพบในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านนายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ค้นพบแมงมุมชนิดดังกล่าว กล่าวว่า ได้ค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน โดยบังเอิญระหว่างลงพื้นที่สำรวจในถ้ำ ภายในเขตพื้นที่โครงการ อพ.สธ. อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จัดเป็นแมงมุมในกลุ่มแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงที่สำคัญของโลก ขณะนี้พบว่ามีการแพร่กระจายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ประเทศในแทบยุโรป รัสเซีย ออสเตรเลีย เป็นต้น สำหรับในเอเชียค้นพบในจีน ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พบในไทย ทั้งนี้จากการสำรวจในถ้ำแห่งนี้และถ้ำในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 5 ถ้ำ ทำให้ทราบว่าแมงมุมชนิดนี้มีขอบเขตการกระจายตัวเฉพาะที่ถ้ำนี้แห่งเดียวเท่านั้น และคาดว่าภายในถ้ำมีประมาณ 500 ตัว อยู่ตามพื้นและผนัง สันนิษฐานว่าแมงมุมชนิดนี้อาจจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ในระหว่างที่มีการขนส่งวัสดุและยุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นมายังไทย โดยใช้ถ้ำนี้แห่งเดียวเป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งการค้นพบแมงมุมชนิดนี้ถือว่ามีความสำคัญทางการแพทย์ ในการเป็นข้อมูลสำหรับการรักษา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาขั้นสุดท้ายเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานาชาติ

นายนรินทร์ กล่าวว่า ลักษณะของแมงมุมชนิดนี้จะมีสีเหลืองน้ำตาล บางตัวจะมีสีน้ำตาลเข้มมองแล้วคล้ายไวโอลิน จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแมงมุมไวโอลิน ขนาดตัวประมาณ 7-7.5 มิลลิเมตร ลำตัวมีลักษณะแบนเรียวลู่คล้ายลูกศรในบริเวณส่วนบนที่เป็นที่ตั้งของตา ซึ่งตามี 3 คู่ รวม 6 ตา ขามี 4 คู่ เรียวและยาวไปทางด้านข้าง ส่วนท้องมีลักษณะรีมีขนกระจายอยู่ทั่วท้อง อย่างไรก็ตามแม้ว่าแมงมุมชนิดนี้จะมีชื่อเสียงด้านพิษที่รุนแรง ซึ่งพิษจะส่งผลให้เกิดการตายเฉพาะส่วนของเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัด แต่ข้อมูลจากงานวิจัยและการเก็บสถิติเป็นเวลากว่า 10 ปีในต่างประเทศ พบว่าคนที่โดนแมงมุมชนิดนี้กัด มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีบาดแผลรุนแรงจนต้องรับการรักษากับแพทย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย อาทิ แมงมุมปล่อยพิษออกมามาก และผู้ที่ถูกัดมีภูมิภูมิต้านทานต่ำ เป็นต้น ส่วนผู้ที่เสียชีวิตในต่างประเทศพบว่ามีน้อยมาก ซึ่งในประเทศบราซิลมีรายงานเพียงร้อยละ 0.05 หรือ 47 ราย จากผู้ที่ถูกกัดทั้งหมด 91,820 ราย สาเหตุเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นแมงมุมชนิดนี้กัด จึงไม่ได้ทำการรักษา จนเกิดแผลติดเชื้อลุกลามรุนแรง

Advertisement

นายนรินทร์ กล่าวว่า หากถูกแมงมุมกัด พยายามจับแมงมุมให้ได้ เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษา โดยเก็บแช่ไว้ในแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นใช้น้ำแข็งประคบ 10 นาที พัก 10 นาที สลับกัน และให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งหากถูกกัดสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ

“ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเนื่องจากแมงมุมชนิดนี้มีนิสัยหลบซ่อนตามซอกมุมหากินกลางคืน ไม่มีนิสัยดุร้าย อีกทั้งยังพบในถ้ำแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น เป็นพื้นที่ที่แคบมาก และยังไม่พบในบ้านเรือนของประชาชน จึงอยากให้ทราบสถานะข้อมูลและการกระจายตัวของแมงมุมเพื่อเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวเข้าไปในถ้ำต่างๆ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างทำการศึกษาเส้นทางรถไฟในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ทั้งนี้ในประเทศไทยมีแมงมุมที่มีพิษรุนแรงอยู่ 3 ชนิดได้แก่ แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล และแมงมุมแม่ม่ายหลังเพลิง”นายนรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image