ปฏิบัติการอนุรักษ์ “เสือโคร่ง” ของเหล่านักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เรื่องเสือ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีเสืออยู่ทั่วโลก และทำงานด้านการอนุรักษ์เสือมานาน
สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ขึ้นชื่อว่ามีทีมงานศึกษา วิจัย และอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเมื่อปี 2550 ทุกประเทศที่มีเสือในป่าธรรมชาติ ได้ทำปฏิญญาร่วมกันว่า ภายในปี 2565 จะต้องทำให้เสือโคร่งในป่าธรรมชาติเพิ่มปริมาณจากเดิมที่มีอยู่อีก 50% จากการสำรวจล่าสุด พบว่า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเวลานี้ พบเสือโคร่งประมาณ 80 ตัว เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ปริมาณเสือโคร่งเดิม ที่มีอยู่ แต่จำนวนนี้ ไม่รวมถึงพื้นที่อื่นๆที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่เหมือนกัน ซึ่งทั่วประเทศน่าจะมีมากกว่า 300 ตัว
ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ที่ 12 นครสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ บอกว่า งานวิจัย การศึกษาเรื่องเสือโคร่งที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่ได้มาไม่ใช่เพียงแค่ปริมาณเสือในป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจัยที่ส่งเสริมให้จำนวนเสือมากขึ้น คือป่าไม้ก็สมบูรณ์ตามมาด้วย เพราะเสือจะเพิ่มขึ้นไม่ได้หากไม่มีป่า หรือป่าเสื่อมโทรม นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้วงจร 4 ช่วงชีวิตของเสือด้วยคือ ตั้งแต่ รุ่นทวด รุ่น ยาย รุ่นแม่ มาถึงรุ่นลูก
ในจำนวน 80 กว่าตัวของเสือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้น นักวิจัยเสือของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ได้ติดวิทยุติดตามตัว เพื่อศึกษาพฤติกรรมและเฝ้ามองวิถีการดำรงชีวิต ราว 20 ตัว นอกจากนี้ ยังมีการติด แคมเมราแท็ปเอาไว้ตามจุดต่างๆที่คาดการณ์ว่า จะเป็นทางเสือผ่าน สำหรับสังเกตการใช้ชีวิตของพวกมันอีกด้วย
“เราจำเสือแต่ละตัวได้ จากลายบนตัวพวกเขา เสือแต่ละตัวมีลายไม่เหมือนกัน ลายเสือก็เปรียบเสมือน ดีเอ็นเอของคน 1 ตัว จะมี 1 แบบเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกความมหัศจรรย์ที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตเสือโคร่ง”ศักดิ์สิทธิ์ กล่า
และในบรรดา 20 กว่าตัวของเสือในห้วยขาแข้ง ที่นักวิจัยตามดูอย่างใกล้ชิดนั้น “บุปผา” เป็นเสมือนนางเอกของพวกเขา
“บุปผา ถือเป็นเสือตัวเดียวในโลก ที่นักวิจัยได้สัมผัสกับชีวิตของเขาตั้งแต่เกิด จนถึงเวลาใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต” ศักดิ์สิทธิ์ บอก
เจ้าบุบผาเกิดเมื่อปี 2545 เป็นลูกของแม่เสือรตยา ซึ่งนักวิจัยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียติให้กับรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคเสถียร ที่ได้รับสมญานามว่า นางสิงห์เฝ้าป่า บุปผามีพี่น้องที่เกิดคลอกเดียวกันอีก 1 ตัวคือ เจ้าข้าวจี่
นักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ นำโดย ศักดิ์สิทธิ์ และสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สามารถถ่ายภาพเจ้าบุปผา โดยกล้องแคมแมร่าแท็ป ที่เอาไปติดบนต้นไม้บริเวณทางผ่านของเสือแม่ลูก ได้เมื่อตอนบุปผา และข้าวจี่อายุได้ 1 ปีเศษ หรือราวปี 2547
“เราเห็นวิวัฒนาการของบุปผามาตลอด ตั้งแต่เป็นเสือน้อย จนเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นตัวเต็มวัย เป็นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์แบบ จากภาพถ่ายพบว่า นับแต่ปี 2550-2552 นั้น บุปผาตั้งท้องทุกปี โดยแม่เสือจะตั้งท้อง ราว 3-4 เดือน ออกลูกครั้งละ 3-5 ตัว แต่ประสบความสำเร็จจริงๆในการเลี้ยงลูกจนเติบโต และหากินได้ด้วยตัวเองเพียง 2 คลอก เท่านั้น คลอกหนึ่ง 2 ตัว คือ เจ้าเอื้อง กับน้องเอม และอีกคลอกคือ สมหญิง ชมพู่ และต้นน้ำ ทั้งหมด อยู่ในสายตาของนักวิจัยในเขานางรำทั้งหมด จากวิทยุติดตามตัว”
คำว่าประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกของเสือหมายถึง สามารถเลี้ยง ประคับประคองจนลูกสามารถแยกออกไปหากินได้เอง แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น อาจจะเป็นเพราะ ระหว่างที่กำลังเลี้ยงลูกอยู่นั้นมีเสือตัวผู้เข้ามาและฆ่าลูกเสือทิ้ง ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของเสือในป่า
ศักดิ์สิทธิ์ บอกด้วยว่า เสือตัวอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่สามารถจับมาติดวิทยุติดตามตัว เพื่อติดตามพฤติกรรมนั้นหลายตัว ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง เพราะบางทีมีการย้ายถิ่น เพื่อหาอาณาจักรหากินใหม่ในพื้นที่อื่นๆ แต่บุปผา เป็นตัวที่สามารถติดตามพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานที่สุด สามารถจับบุปผามาติดวิทยุติดตามตัวได้ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ทุกครั้งที่จับบุปผาได้ ก็จะพบการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์มากขึ้น การจับแต่ละครั้งก็ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
“เสือเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้เร็วมาก หลายครั้งเราต้องขนของกลับสถานี เพราะจับไม่ได้เสียที เขาจะไวต่อกลิ่น และจดจำอะไรได้ค่อนข้างแม่นยำ การจับแต่ละครั้งต้องอาศัยความอดทน รอบคอบ ระมัดระวัง และต้องชิงไหว ชิงพริบกันตลอดเวลา”
เสือในป่าธรรมชาติ มีอายุขัย ราว 15-16 ปี และวันนี้บุปผา อายุราว 13 ปีแล้ว หากเทียบกับคน บุปผาก็จะมีอายุราว 80 ปี ถือเป็นเสือแก่ที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาอย่างโชกโชน และกำลังจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
“วาระสุดท้ายของเสือแก่เขาจะค่อยๆ หมดแรง ไม่สามารถล่าเหยื่อเองได้ ทรุดโทรม และตายไปในที่สุด ถือว่า ร่างกายได้ถ่ายทอดพลังงานกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง พวกเราเห็นเสือตายมาเยอะ หากเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเสือแก่ตาย หรือ มีการฆ่ากันเองเพื่อแย่งชิงพื้นที่ พอจะเข้าใจได้ แต่ที่รับไม่ได้เลย คือ การเข้าไปล่า และฆ่าเสือในของกลุ่มพรานป่า เป็นการกระทำที่ค่อนข้างโหดร้าย อันนี้ทำให้หดหู่อย่างยิ่ง” ศักดิ์สิทธิ์ บอก
วันนี้ วิทยุติดตามตัว บุปผาเริ่มอ่อนกำลังลงแล้ว นักวิจัยกำลังช่วยกันวางแผน ติดตามตัวบุปผาอีกครั้งเพื่อติดตั้งวิทยุใหม่ และครั้งสุดท้าย
“บุปผา” ถือเป็นความยิ่งใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้ง และเป็นคุณูปการอันสูงยิ่ง สำหรับการศึกษา การอนุรักษ์พันธุ์เสือโครงในประเทศไทย