ช่วยเด็กเยาวชนเปราะบาง ‘เสียงเล็กๆ จากเด็กถูกเท’

เพราะเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า สภาพสังคมในวันนี้คือผลพวงการพัฒนาในอดีต เช่นเดียวกับการพัฒนาในวันนี้ ทว่าปัจจุบันยังมีเด็กไทยบางส่วนต้องเผชิญปัญหาจนกลายเป็นเด็กเปราะบาง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกชักจูง ครอบงำ และถูกคุกคามจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “เสียงเล็กๆ จากเด็กถูกเท” พาเด็กและเยาวชนให้หลุดพ้นภาวะเปราะบาง ซึ่งมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธาน ณ ห้องปริ้นบอลรูม 3 โรงแรมปริ้นพาเลซ กรุงเทพฯ

 

Advertisement

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเยาวชนภาวะเปราะบางในปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.17 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ อาทิ เด็กออทิสติก สมาธิสั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรเด็กไทย ยังขาดการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และอาชีพรองรับ

ต่อมาคือ กลุ่มเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 476,000 คน ลูกแรงงานต่างด้าว 250,000 คน ซึ่งเมื่อรัฐได้จัดระบบแรงงานต่างด้าวด้วยการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องคิดถึงสิทธิสวัสดิการทางการศึกษาแก่คนกลุ่มนี้ไว้รองรับ รวมถึง กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ ราว 200,000 คน ที่เผชิญกับปัญหารอยต่อทางการศึกษา แม่วัยรุ่น ที่มีอยู่ 104,289 คน โดยพบว่าเด็กแรกเกิดของไทยร้อยละ 15 มาจากแม่วัยรุ่น ฉะนั้น ทำอย่างไรจะทำให้เด็กที่เกิดใหม่เหล่านี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจน กลุ่มเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 33,121 คน ที่ร้อยละ 68 มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทาง และส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา

Advertisement
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใน 13-14 กลุ่มเด็กเปราะบางที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือ เด็กไร้สัญชาติและลูกแรงงานต่างด้าว เพราะเกิดมาอย่างไม่มีตัวตน เข้าไม่ถึงสิทธิของนโยบายรัฐแบบเต็มที่ อาทิ การศึกษาที่จบชั้น ม.6 เรียนต่อไม่ได้ ทั้งนี้ เราให้โอกาสเขาบางส่วน แต่เราก็มีนโยบายเรื่องความมั่นคงครอบอยู่ ซึ่งหากปล่อยไป เด็กที่ด้อยการศึกษา ไม่มีอาชีพที่ดี และหางานทำยาก เด็กกลุ่มหนึ่งจะต้องเสี่ยงเข้าสู่ขบวนการขนยาเสพติด หรือเด็กผู้หญิงก็อาจเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณี เพราะ 2 อาชีพนี้หาง่ายรายได้เร็ว

ศ.สมพงษ์กล่าวอีกว่า รองลงมา กลุ่มเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้นก็น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จากภาวะความเครียดของแม่ที่ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โดยไม่มีการพูดคุย ไม่ดูแลเอาใจใส่ ขณะเดียวกันเราไม่มีบุคคล หรือโรงเรียนที่จะรองรับเด็กออทิสติกและสมาธิสั้น รวมถึงเด็กใช้แรงงาน ขอทาน เร่ร่อน โสเภณี ที่ปัจจุบันเป็นเด็กต่างด้าวเข้ามาทดแทนเด็กไทย เหล่านี้เป็นสภาวะของเด็กถูกเท ซึ่งหากจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เราจะต้องไม่ทิ้งเด็ก 3.17 ล้านคนไว้ข้างหลัง จนก่อปัญหาพฤติกรรมและทำให้สังคมไม่สงบสุข

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ

“การมองเด็กกลุ่มถูกเทต้องฟังเสียงอย่างเข้าใจ ดูอย่างละเอียด เราจึงจะรู้ว่าจะช่วยเหลือ เยียวยา และช้อนสู่อนาคตที่ดีกว่าอย่างไร เป็นเรื่องที่ พม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ มท.ที่ดูเรื่องความมั่นคง ต้องเปลี่ยนแว่นเปลี่ยนความคิด ให้มองว่าเด็กเหล่านี้ก็เป็นเด็กไทยคนหนึ่ง เป็นเด็กเพื่อนบ้านในอาเซียนที่จะมาค้าขาย มาเป็นกัลยาณมิตรในอนาคต หรือแบบสิทธิทางชาติพันธุ์ ซึ่งจะยิ่งใหญ่กว่าวิธีคิดแบบเศรษฐกิจ การเมือง” ศ.สมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image