กรมสุขภาพจิตห่วง “จิตอาสา” เสี่ยงมีความเครียดสะสม

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ยิ่งใกล้วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงกลุ่มจิตอาสา ที่อาจเกิดความเครียดสะสมอันเนื่องมาจากหลายๆสาเหตุระหว่างการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1.ความรู้สึกที่ต้องอยู่กับสถานที่และผู้คนที่มีความโศกเศร้าจำนวนมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกโศกเศร้าร่วมกันได้ 2.การทำงานภายใต้ความกดดันที่ต้องดูแลคนจำนวนมากติดต่อเป็นเวลานาน อาจจะไม่ได้พักผ่อน ทำให้เกิดความเมื่อยล้า 3.การช่วยเหลือที่ไม่เป็นไปอย่างที่ตนเองคาดหวัง หรือประชาชนคาดหวังกับกิจกรรมของจิตอาสา 4.การทำงานที่อาจจะไม่ตรงตามความถนัดหรือบทบาทของตนเอง หรือมีความขัดแย้งกันในกลุ่มของจิตอาสาด้วยกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้จิตอาสาเกิดความเครียด มีอาการมึนงง เหม่อลอย หลงลืม ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ หรือฝันถึงเหตุการณ์ร้ายซ้ำๆ

“มีคำแนะนำสำหรับจิตอาสา 1.ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าได้ทำสิ่งที่ตนเองถนัดในบทบาทอะไร สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อหน้าที่การงานและกิจวัตรประจำวันในปกติของตนเองและครอบครัว 2.ได้ทำกิจกรรมที่ถนัดและเกิดคุณค่าในตนเอง รู้สึกมีความสุขใจที่ได้กระทำ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการทำสิ่งนั้น 3.สามารถพูดคุยปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการช่วยเหลือระหว่างกลุ่มจิตอาสาด้วยกันในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเย็นหรือค่ำก่อนเลิกกิจกรรม โดยพูดถึงกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ และมีความสุขใจที่ได้ทำอะไรไป ชื่นชมในข้อดี ขอบคุณกัน เก็บประสบการณ์ที่ดีต่อกันและกัน ไม่โทษซึ่งกันและกันในกลุ่ม 4.อาจจำเป็นต้องสับเปลี่ยนกำลังในการเป็นจิตอาสา ซึ่งแต่ละคนต้องกลับไปทำบทบาทในหน้าที่ของตนเองในชีวิตประจำวันและครอบครัว ไม่ให้กระทบเวลาของตนเองและครอบครัวจนเกินไป

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า จิตอาสาจะต้องไม่คาดหวังกับผลลัพธ์จากการให้บริการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ เช่นความโกรธ ความไม่พอใจของผู้ไปรับบริการ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามกำหนด เป็นต้น ขอให้ระลึกเสมอว่าได้ทำดีที่สุดในวันนี้แล้ว และเกิดคุณค่ามีความภูมิใจที่ได้ทำแล้ว หากรู้สึกว่าไม่สบาย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า หรือมีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ อารมณ์ฉุนเฉียว หรือซึมเศร้า ให้หยุดพักและผ่อนคลายด้วยตนเอง ไม่ฝืนทำต่อ และให้พักผ่อน

“จิตอาสาทุกคนจะมีความเครียดมากกว่าผู้อื่น เพราะได้ทำหน้าที่ของตนเองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีความไม่สบายทางกายหรือทางด้านจิตใจอยู่เดิมแล้ว อาจจะสามารถเลือกเป็นจิตอาสาได้ในกรณีที่เป็นงานเบาๆ และไม่เครียดจนเกินไป เช่น การทำดอกไม้จันทน์ การแจกสิ่งของ เป็นต้น” นพ.กิตต์กวี กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image