ผู้ค้าประตูน้ำรวมตัวค้านจัดระเบียบ วอนกทม.ทบทวน-เห็นใจปัญหาปากท้อง

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ค้าย่านประตูน้ำกว่า 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เพื่อขอให้ทบทวนการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าย่านประตูน้ำ บริเวณหน้าห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าและฝั่งตรงข้าม ไปจนถึงซอยเพชรบุรี 13 และช่วงถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำเป็นต้นไป

นายภานุศรณ์ บุษะปาคม ตัวแทนผู้ค้าย่านประตูน้ำ กล่าวว่า ประตูน้ำเป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่มีการค้าขายบนทางเท้ามายาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบัน กทม.ได้กำหนดให้ย่านประตูน้ำเป็นจุดผ่อนผันที่ผู้ค้าสามารถตั้งวางแผงค้าได้ โดยมีผู้ค้าในจุดผ่อนผันประมาณ 800-1,000 ราย ซึ่งข้อกำหนดของ กทม.ให้ผู้ค้าสามารถตั้งวางแผงค้าได้ตั้งแต่เวลา 10.00-24.00 น. และผู้ค้าห้ามตั้งวางแผงค้าถาวร ต้องจัดเก็บแผงค้าทุกวัน ซึ่งผู้ค้าในจุดผ่อนผันก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ กทม.มาโดยตลอด และขอยืนยันว่าแผงค้าในจุดผ่อนผันย่านประตูน้ำ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน เนื่องจากตั้งแผงบนทางเท้าที่ กทม.กำหนด ชิดริมฝั่งถนนและเหลือพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนสัญจรไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ส่วนปัญหาการจราจรติดขัดก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในบริเวณนี้ ซึ่งการที่ภาครัฐจะมากล่าวหาว่าเกิดจากผู้ค้านั้นไม่ถูกต้อง

นายภานุศรณ์กล่าวว่า ส่วนปัญหาขยะในพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็เป็นขยะที่เกิดจากประชาชนและนักท่องเที่ยว และผู้ที่มีบ้านเรือนบริเวณดังกล่าวทั้งสิ้น เนื่องจากจุดดังกล่าวไม่ค่อยมีถังขยะตั้งวาง ส่วนขยะของผู้ค้าได้ช่วยกันจัดเก็บและนำออกมาวางไว้ตามเวลานัดเก็บขยะจากทางเขตฯ ขณะที่ตลาดแห่งใหม่ที่ กทม.ได้จัดหาไว้รองรับผู้ค้า คือตลาดเอกชนภายในซอยเพชรบุรี 29 ตลาดพันทิพย์บางกะปิ และตลาดคึกคักท่าดินแดง ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างก็มีค่าใช้จ่ายในการเช่าแผงค้าจำนวนมาก และเป็นพื้นที่รองรับผู้ค้าจากการจัดระเบียบในจุดอื่น แต่ผู้ค้าส่วนใหญ่กลับไม่เข้าไปขาย เนื่องจากประเมินแล้วว่าไม่สามารถค้าขายได้ดังเดิม ดังนั้น กลุ่มผู้ค้าจึงขอให้ กทม.พิจารณาการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้า แทนการยกเลิกแผงค้า ซึ่งผู้ค้าย่านประตูน้ำทุกคนยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ตนอยากให้รัฐจริงใจในการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงปากท้องของประชาชนเป็นสำคัญด้วย และฟังเสียงของประชาชนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ว่าต้องการให้แผงค้าประตูน้ำยังคงอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ เนื่องจากวิถีและเสน่ห์ของประตูน้ำในสายตานักท่องเที่ยวคือการเดินเลือกซื้อสินค้าบนทางเท้า

ด้านนายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กล่าวว่า ข้อเสนอของผู้ค้า คือการให้ กทม.เข้าไปดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าในจุดผ่อนผันทั้งหมด และให้ผู้ค้ายังสามารถตั้งวางแผงค่าบนทางเท้าในพื้นที่เดิมได้ โดยไม่ทำการยกเลิกแผงค้านั้น กทม.ได้รับเรื่องไว้และจะนำเข้าสู่การประชุมของผู้บริหาร กทม.เพื่อวางแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ กทม.จะมีการประชุมทำความเข้าใจกับผู้ค้าย่านประตูน้ำอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า เพื่อชี้แจงแก่ผู้ค้าถึงรูปแบบการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าย่านประตูน้ำที่ชัดเจนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image