ศูนย์วิจัยกุ้งฯ พัฒนา”กุลาดำ” ช่วยเกษตรกรรายย่อย

โดย นฤมล รัตนสุวรรณ์

ในปี 2546 อุตสาหกรรมกุ้งของไทยประสบปัญหาขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากธรรมชาติที่มีคุณภาพ เนื่องจากกุ้งกุลาดำเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นมีลักษณะเด่น คือ ขนาดใหญ่ รสชาติดี และสีสวย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยตลาดกุ้งกุลาดำทั่วโลกเป็นที่ต้องการปีละประมาณ 350,000-400,000 ตัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำประมาณเพียง 300 ราย (20,000 บ่อ) ได้ผลผลิตเพียง 21,000 ตันเท่านั้น

หลังจากนั้น รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมจัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรคให้แก่เกษตรกร เกิดความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

lif05150359p2

Advertisement

รศ.สุวิทย์ เตีย รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง กล่าวว่า ประเทศไทยขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากทะเลและต้องการเลี้ยงให้เจริญพันธุ์ในบ่อ แต่ไม่สามารถคัดเลือกกุ้งกุลาดำจากธรรมชาติได้เพราะไม่เคยผ่านการปรับปรุงพันธุ์ จึงเกิดแนวคิดที่อยากจะพัฒนาสายพันธุ์กุ้งกุลาดำ จนที่สุดได้มีการจัดตั้ง ศวพก. หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งกุลาดำและสามารถนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ศวพก.ได้ทดสอบลูกกุ้งและพ่อแม่พันธุ์ในระดับฟาร์มเกษตรกรและโรงเพาะฟักเอกชน โดยส่งพ่อแม่พันธุ์ให้โรงเพาะฟักเอกชนจำนวน 3,378 ตัว กุ้งวัยรุ่นและลูกกุ้งวัยรุ่นส่งให้ศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์กุ้ง (BMC) จำนวน 14,587 ตัวและจำนวน 894,870 ตัว และส่งลูกกุ้งให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 89.77 ล้านตัว ได้ผลตอบรับจากเกษตรกรว่าพึงพอใจกับลูกกุ้งสายพันธุ์ เพราะหลังการส่งออกกุ้งมีชีวิตไปจีน พบว่ากุ้งกุลาดำจาก ศวพก. มีอัตราฟื้นจากกุ้งสลบ คือทำให้กุ้งสลบเพื่อให้ไปฟื้นปลายทาง มากกว่าสายพันธุ์อื่นและสร้างมูลค่ากว่า 23 ล้านบาท

ดังนั้น ศวพก. จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่ไม่เพียงพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง แต่รวมถึงการสร้างสัมพันธภาพและความสามัคคีระหว่างนักวิชาการและเกษตรกร ด้วยการให้ความร่วมมือนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ที่สนใจปรับปรุงพันธุ์กุ้ง เช่น อาหาร เทคนิคการเลี้ยง และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อลดการใช้แรงงาน เช่น เครื่องคัดแยกเพรียงทราย อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ลูกกุ้งและพ่อพันธุ์แม่กุ้งกุลาดำอย่างมีคุณภาพ

Advertisement

น.ส.สมใจ วงศ์ตรีภพ ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งนั้น เริ่มต้นโดยการนำกุ้งกุลาดำจากธรรมชาติหลายๆ แหล่งมาผ่านการกักกันโรค 8 โรค ได้แก่ โรคดวงขาว (WSSV) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHNV) โรคติดเชื้อแบคคูโลไวรัส (MBV) โรคเอชพีวี (HPV) โรคแหลมสิงห์ (LSNV) โรคทอร่า (TSV) โรคหัวเหลือง (YHV) และโรคระบาดคล้ายกับโรคหัวเหลือง (GAV) จนแน่ใจว่าปลอดโรคอย่างน้อย 2 รุ่น จึงส่งลูกกุ้งรุ่นที่ 2 ไปยังศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ในระบบการเลี้ยงกุ้งปลอดเชื้อ (biosecure) ประกอบด้วย อาคารเพาะฟัก สำหรับเตรียมความพร้อมพ่อแม่พันธุ์ อาคารอนุบาลลูกกุ้ง สำหรับอนุบาลลูกกุ้งตั้งแต่ระยะที่ลูกกุ้งฟักออกจากไข่ใหม่ๆ (ระยะนอเพลียส) ถึงระยะตัวอ่อนใกล้เคียงกับลูกกุ้งวัยรุ่น (ระยะโพสต์ลาวา) อาคารสำหรับเพาะเลี้ยงไดอะตอม เพื่อเป็นอาหารลูกกุ้งวัยอ่อน อาคารสำหรับการเพาะฟักไข่อาร์ทีเมีย เพื่อควบคุมและลดการปนเปื้อนการติดเชื้อ และอาหารเพาะเลี้ยงเพรียงทราย (ใส้เดือนทะเล) สำหรับเป็นอาหารสดให้พ่อแม่พันธุ์ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกกุ้งจะไม่มีการปนเปื้อนเชื้อจากภายนอก

lif05150359p3
สมใจ วงศ์ตรีภพ

ทั้งนี้ ศวพก.ได้ดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2550 โดยปรับปรุงพันธุ์ตามแผนที่เน้นน้ำหนักตัวที่อายุ 5 เดือนเป็นอายุจับขายทั่วไป ผลดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์พบว่า รุ่นที่ 1 มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวที่อายุ 5 เดือนอยู่ที่ 20.20 กรัมต่อตัว รุ่นที่ 2:10 กรัมต่อตัว รุ่นที่ 3:10 กรัมต่อตัว รุ่นที่ 4:9.68 กรัมต่อตัว หลังจากนั้นได้นำโปรแกรมปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์มาใช้พบว่า รุ่นที่ 5 มีน้ำหนักตัว 30.82 กรัมต่อตัว รุ่นที่ 6:36.49 กรัมต่อตัว และปัจจุบันสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 7 มีน้ำหนักตัวลงลงเหลือ 23.40 กรัมต่อตัว เพราะระบบเกิดการติดเชื้อโรคเอชพีวี

ปัจจุบันเกษตรกรไทยหันไปเลี้ยงกุ้งขาวแทนกุ้งกุลาดำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งที่พบว่าตลาดโลกยังมีความต้องการซื้อกุ้งกุลาดำอยู่ แต่ก็มีผลผลิตลดลงคล้ายกันทั่วโลกและประสบปัญหาคล้ายกัน คือ ไม่มีพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากบ่อเลี้ยง ทำให้คุณภาพพ่อแม่พันธุ์กุ้งลดลง ส่งผลให้คู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามประสบปัญหาเช่นกัน จากเลี้ยงกุ้งกุลาดำสายพันธุ์หลักเปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งขาว ฉะนั้นประเทศไทยควรขยายปริมาณการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพื่อเพิ่มผลผลิตและช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย

ข้อมูล จากมติชนรายวัน 15 มีนาคม 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image