สถานการณ์น้ำ เปรียบเทียบปี 2554 กับ 2560

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ล่าสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ระบุปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 ตุลาคม 2560 วัดได้ 1,771 มิลลิเมตร (มม.) เทียบช่วงเดียวกันปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย วัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 ตุลาคม 2554 มีปริมาณทั้งสิ้น 1,798 มม.

ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เปรียบเทียบปริมาณน้ำผ่านจุดควบคุมสำคัญ พบว่า สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปี 2554 น้ำไหลผ่าน 3,542 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ส่วนปี 2560 อยู่ที่ 2,879 ลบ.ม.ต่อวินาที มีความต่าง 663 ลบ.ม.ต่อวินาที, สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปี 2554 น้ำไหลผ่าน 3,254 ลบ.ม.ต่อวินาที ปี 2560 อยู่ที่ 2,697 ลบ.ม.ต่อวินาที ความต่าง 557 ลบ.ม.ต่อวินาที, และสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี 2554 ล้นตลิ่ง แต่ปี 2560 น้ำไหลผ่าน 2,795 ลบ.ม.ต่อวินาที

การเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมในปี 2554 กับปี 2560 พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั่วประเทศ 19.2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5.9 ล้านไร่ และภาคกลาง 6.7 ล้านไร่ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำรวมอยู่ด้วย ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1-23 ตุลาคม 2560 มีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั่วประเทศ 4.2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นภาคเหนือตอนล่าง 2.2 ล้านไร่ และภาคกลาง 1.3 ล้านไร่

เมื่อสรุปเป็นตัวเลขความเสียหายจากน้ำท่วม พบว่าในปี 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศ 67 จังหวัด พื้นที่เมือง/เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ 16 จังหวัด พื้นที่เกษตรเสียหาย 11.16 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหาย 39,060 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 1.16 ล้านราย มูลค่าความเสียหาย 3,480 ล้านบาท พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเดือนตุลาคม 6.70 ล้านไร่ พื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศเดือนตุลาคม 19.20 ล้านไร่

Advertisement

ส่วนในปี 2560 ความเสียหายโดยรวมลดลง มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศ 36 จังหวัด พื้นที่เมือง/เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ 1 จังหวัด พื้นที่เกษตรเสียหาย 4 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหาย 14,000 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 0.55 ล้านราย มูลค่าความเสียหาย 1,650 ล้านบาท พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเดือนตุลาคม 1.30 ล้านไร่ พื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศเดือนตุลาคม 4.20 ล้านไร่

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะคาดการณ์ว่าพื้นที่น้ำท่วมทั้งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ บางพื้นที่ที่เป็นที่สูงกว่า น้ำก็จะถูกระบายและแห้งเร็วกว่าพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าเป็นเรื่องปกติ การบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาล กรมชลฯได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งตามแผนยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันรวมประมาณ 5,016 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักได้ถึง 1,579 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านไร่ จากก่อนปี 2557 สามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาณ 79,551 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 30 ล้านไร่ ทำให้ปัจจุบันรวมมีโครงการต่างๆ เก็บกักน้ำได้ 80,934 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 32 ล้านไร่ ทั้งนี้ ใน 5,016 โครงการดังกล่าวกระจายอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศ โดยจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ แหล่งกักเก็บน้ำ 626 โครงการ แก้มลิง 555 โครงการ ระบบควบคุมน้ำและการระบายน้ำ 1,886 โครงการ และขุดลอกคูคลอง-กำจัดวัชพืช 1,994 โครงการ

เมื่อแยกดูเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รวม 321 โครงการ เพิ่มปริมาณเก็บกักได้ถึง 190 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 0.51 ล้านไร่ ดังนี้ แหล่งเก็บกักน้ำ 45 โครงการ แก้มลิง 43 โครงการ ระบบควบคุมน้ำและการระบายน้ำ 233 โครงการ

Advertisement

ด้านสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับปี 2554 ระบุว่า ปริมาณฝนสะสมของทั้งประเทศในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 19 ตุลาคม เทียบกับปี 2554 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปีนี้แม้จะใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือ เป็นพื้นที่เหนือเขื่อนและเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำเหนือ พบว่าฝนของปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2554 อยู่ประมาณ 300 มิลลิเมตร (มม.) มีพื้นที่ฝนตกมากกว่าปี 2554 คือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจากพายุเซินกา และพื้นที่ภาคใต้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมไปเมื่อต้นปี

สสนก.ระบุว่า ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ เมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำสูงสุดถึง 4,686 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ส่วนปีนี้ยังมีปริมาณน้ำเพียง 3,059 ลบ.ม.ต่อวินาที ชี้ชัดว่าปริมาณน้ำเหนือยังคงต่างกันมาก

ส่วนพื้นที่น้ำท่วมบริเวณภาคกลาง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2554 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 7.3 ล้านไร่ ในปีนี้มีพื้นที่น้ำท่วมเพียง 1.2 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554

ภาพรวมสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงถือว่าดีขึ้น ไม่มีฝนตกเพิ่ม น้ำเหนือน้อยลง น้ำทะเลหนุนต่ำลง

จากข้อมูลสถานีโทรมาตรวัดระดับน้ำอัตโนมัติที่ส่งข้อมูลทุกๆ 10 นาที พบว่าแม้แม่น้ำเจ้าพระยายังคงมีระดับน้ำมากและล้นตลิ่ง โดยเฉพาะเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี มีน้ำล้นตลิ่งต่ำตามธรรมชาติริมแม่น้ำขึ้นมาวันละ 2 รอบ รอบละ 6-7 ชั่วโมง นั้น แต่จากปริมาณฝนทางด้านภาคเหนือและภาคกลางที่ลดน้อยลงถึงแทบไม่มีฝนแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ระดับน้ำคาดว่าจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ส่วนระดับน้ำบริเวณ จ.ปทุมธานี และนนทบุรี มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่หนุนวันละ 2 รอบ โดยปัจจุบันมีระดับน้ำหนุนต่ำลงจากวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่มีน้ำหนุนสูงสุดไปค่อนข้างมาก และแนวโน้มระดับน้ำทะเลหนุนตามการคาดการณ์จะลดลงต่อเนื่อง

อธิบายแบบง่ายๆ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมน้ำเวลานี้คือ เกิดจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยานั่นเอง รูปแบบการระบายน้ำแบบนี้มีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทุกปีที่ผ่านมาก็มีการระบายน้ำเช่นนี้อยู่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ก็รู้ตัวดีว่าพื้นที่ของตัวเองนั้นอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และน้ำจะท่วมเป็นปกติ แต่ไม่กระทบกับตัวเมือง

สำหรับน้ำที่ท่วมอยู่ในทุ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยามองจากภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียมเวลานี้ ประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม.นั้นเป็นทุ่งที่ทางกรมชลประทานเตรียมเอาไว้สำหรับรองรับน้ำอยู่แล้ว จำนวน 12 ทุ่ง ทางกรมชลประทานได้แบ่งน้ำออกด้านซ้ายและด้านขวาของเขื่อนเจ้าพระยา และระบายลงไปเก็บไว้ในทุ่งที่จัดเตรียมไว้ ไม่กระทบต่อการทำการเกษตร กรมชลประทานได้เตรียมแผนไว้ว่า วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เป็นเวลาที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลลดต่ำลงแล้ว จะระบายน้ำจากทั้ง 12 ทุ่งออก โดยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทั้งหมด อยู่ในแผนการจัดการน้ำอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

แต่ที่เป็นปัญหาคือ การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วสร้างผลกระทบกับพื้นที่ริมแม่น้ำ คือทำให้น้ำท่วม แนวทางการแก้ไขคือ ขยายและเพิ่มคุณภาพการระบายน้ำของคลองชัยนาท ป่าสัก เพื่อให้สามารถแบ่งน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image