เอ็นจีโอค้าน ‘เซ็นทรัลโคราช’ ขอปลดล๊อคโซนนิ่งร้านเหล้า วอนรัฐอย่าใจอ่อน

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวถึงกรณีที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ซึ่งเป็นผู้ประกอบการของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ขอให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่โซนนิ่งเพื่อให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้ ว่า เครือข่ายฯ ขอคัดค้านแนวคิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่จะปรับลดพื้นที่โซนนิ่งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ขายเหล้าเบียร์ได้ เนื่องจากห้างดังกล่าวได้ก่อสร้างภายหลังประกาศเขตพื้นที่โซนนิ่ง ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา

“เมื่อมีกฎ มีระเบียบ ทุกคนก็ควรปฏิบัติตาม และห้างเซ็ลทรัลก็ไม่ควรละเมิด การอยู่ในโซนนิ่ง หากไม่ขายเหล้าเบียร์ ไม่มีลานเบียร์ ห้างเซ็ลทรัลก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร ขณะเดียวกัน การที่ผู้บริหารเซ็นทรัลกดดันฝ่ายราชการด้วยการอ้างว่าลงทุนนับหมื่นล้านบาท อ้างว่าขอแบบก่อสร้างไว้แล้ว เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล ตอนที่มีการทำโซนนิ่งห้างแห่งนี้ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ ดังนั้นขอให้ภาครัฐหนักแน่น และจุดยืนของเครือข่ายฯ จะขอคัดค้านเรื่องนี้จนถึงที่สุด” นายคำรณ กล่าว

ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัญหาร้านเหล้าใกล้สถานศึกษาเป็นเรื่องที่หมักหมมมานาน เครือข่ายฯ ได้นำเสนอปัญหานี้มาเกือบ 7 ปี ในยุคแรกๆ มีข้อเสนอให้จัดโซนนิ่งร้านเหล้า ให้อยู่ห่างออกไปในรัศมี 500 เมตร และยอมถอยลงมาเหลือ 300 เมตร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตถูกยิงเสียชีวิต หน้าร้านเหล้าใกล้มหาวิทยาลัย จึงนำมาซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยหลักการสำคัญคือ ร้านใหม่ไม่ให้เพิ่ม ร้านเดิมที่ขายกันอยู่ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากร้านใดละเมิดกฎหมายจะถูกสั่งปิด ตั้งแต่ 5 ปี ไปจนถึงสั่งปิดถาวร ซึ่งหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้คือ ไม่ต้องการให้มีร้านขายเหล้ารายใหม่เพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่ใกล้สถานศึกษา เพื่อมิให้จำนวนร้านเหล้ามีความหนาแน่นมากเกินไป

“หากห้างเซ็นทรัลโคราชสามารถขอแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนแปลงพื้นที่โซนนิ่งเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองมีร้านขายเหล้าเบียร์ได้ เท่ากับเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช.ไปโดยปริยาย และจะเกิดข้อครหาตามมาว่ากลุ่มทุนมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล ไม่ต่างอะไรกับการฉีกกฎหมายฉบับนี้ เรื่องนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะลงนามแก้ไข ประกอบกับความเห็นของสถานศึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญในเรื่องนี้ เครือข่ายฯ จึงอยากเห็นความกล้าหาญของสถานศึกษา และผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะไม่โอนอ่อนอ่อนตามอิทธิพลของธุรกิจ” นายชูวิทย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image