ไทย-พม่าจับมือเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย กล่าวภายหลังลงนามบันทึกการประชุมระดับวิชาการไทย-เมียนมา ร่วมกับนายอู วิน เชน อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานตรวจคนเข้าเมืองและประชากร หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จ.เพชรบุรี ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็น 1.ขณะนี้มีผลการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการตรวจสัญชาติและการออกเอกสารรับรองบุคคล หรือ ซีไอ (CI) ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 766,295 คน เป็นกลุ่มบัตรสีชมพู 419,461 คน กลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) 346,834 คน โดยฝ่ายพม่าตรวจสัญชาติและออกเอกสารซีไอให้แรงงาน 623,794 คน กลุ่มบัตรสีชมพู 381,099 คน ใบจับคู่ 242,695 คน คงเหลือที่ต้องพิสูจน์สัญชาติ 529,635 คน ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นชอบร่วมกันจัดชุดโมบายไปยังจังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก และจัดลำดับคิวในการให้บริการพิสูจน์สัญชาติ ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) เพื่อให้การตรวจสอบรวดเร็วขึ้น 2.นายจ้างจะชี้แจงสัญญาจ้าง สวัสดิการต่างๆ ให้แรงงานพม่าตามเอ็มโอยูทราบอย่างชัดเจน และติดประกาศระเบียบข้อบังคับของบริษัทไว้ในสถานที่ทำงาน รวมทั้งอนุมัติความต้องการจ้างแรงงานตามจริง และลงโทษบริษัทจัดหางานนำเข้าแรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบแจ้งบัญชีรายชื่อบริษัทที่ขึ้นบัญชีดำให้แต่ละฝ่ายรับทราบ พร้อมทั้งพิจารณาปรับปรุงลดขั้นตอนการดำเนินการตามเอ็มโอยูให้สะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

“3.ฝ่ายไทยแจ้งให้ฝ่ายพม่าว่า ค่าตอบแทนแรงงานพม่าแบบรัฐต่อรัฐสำหรับแรงงานประมงเป็นรายเดือนๆ ละ 12,000 บาท นายจ้างจัดสวัสดิการอาหารและที่พักให้กับแรงงานตามความเหมาะสม จ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร และนายจ้างจัดทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือประกันอุบัติเหตุ โดยฝ่ายไทยขอให้แจ้งเงื่อนไขการจ้างแรงงานประมงผ่านช่องทางการทูต เพื่อจะได้ประสานไปยังผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป” นายอนุรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image