2 มูลนิธิดังแนะสังคมเข้าใจคนไร้บ้าน อย่าเพียงแค่ ‘สงสาร’ หวังหากลไกเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่พิพิธบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมและเวทีสาธารณะ “Human of Street” ตอน “Greeting For The Homeless” ด้วยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ “เรื่องเล่าริมทาง” และนิทรรศการเพื่อสร้างความเข้าใจคนไร้บ้านในกทม. การแสดงดนตรีเพลงเพื่อคนไร้บ้าน รวมถึงการสกรีนเสื้อช่วยคนไร้บ้าน โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีเสวนาหัวข้อ “เพื่อสิทธิ์ เพื่อชีวิต คนไร้บ้าน ในตอนหนึ่ง นายนันทชาติ หนูศรีแก้ว มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ตนทำงานกับคนไร้บ้านเชียงใหม่ ในขณะหลายคนอยากใส่เสื้อกันหนาวเที่ยวเชียงใหม่ แต่คนอีกกลุ่มกำลังนอนหนาว คนไร้บ้านจำนวนมากป่วยจากสภาพอากาศ เช่น ความหนาวเย็นและการต้องตากฝน หากคุยเรื่องสิทธิ คนทั่วไปเมื่อไม่สบายสามารถไปพบแพทย์โดยใช้บัตรทอง หรือประกันสังคม ส่วนข้าราชการก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่คนไร้บ้านที่ไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้ อย่างกลุ่มที่ไม่มีประชาชน เพราะเร่ร่อนตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ได้รับสิทธิ

“ชีวิตคนไร้บ้านซับซ้อน บางคนติดเหล้า เจ็บป่วยเรื้อรัง บางคนกำพร้า รัฐพาไปสถานสงเคราะห์ แต่หนีออกมาเร่ร่อนก่อนอายุ 15 ก็ไม่มีบัตรประชนชนเลยสืบยาก ใช้ชีวิตอยู่สนามหลวง ไม่รู้รากเหง้า น่าจะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้ผมเคยพาคนไร้บ้านไปโรงพยาบาลพบว่า ทางโรงพยาบาลไม่มีปัญหา ไม่ปฏิเสธคนไข้ แต่ถ้าเขาไม่มีสิทธิการรักษา ก็ใช้สิทธิอะไรไม่ได้ กลายเป็นไม่กล้าไปพบแพทย์ เมื่อบัตรทองไม่มี จ่ายเองก็ไม่มีตังค์ ประกันสังคมไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ได้ทำงาน” นายนันทชาติกล่าว พร้อมเล่าถึงการก่อสร้างที่พักให้คนไร้บ้านที่เชียงใหม่

นายสิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า อยากให้สาธารณะตื่นตัวเรื่องคนไร้บ้าน อย่ารู้จักคนไร้บ้านแค่ความสงสาร แต่ควรทำความเข้าใจในประเด็นอื่นๆด้วย

Advertisement

“อย่ารู้จักคนไร้บ้านแค่ความน่าสงสาร อยากผลักดันให้สาธารณะเข้าใจในประเด็นอื่นๆในความเป็นคนไร้บ้าน ว่าทำไมเหมือนคนขี้เกียจ สกปรก เหมือนคนยอมพ่ายแพ้ เราพยายามโยนประเด็นพวกนี้ขึ้นไป แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ควรมีการเติมเต็มเรื่องคุณภาพชีวิต ปัญหาหนึ่งที่พบคือระบบรัฐหลายส่วนมีการเปลี่ยนนโยบายไปมา คนไร้บ้านหลายรายไม่ไปโรงพยาบาล แปลว่ามองไม่เห็นความหวังในระบบที่จะแก้ปัญหาของเขา บางคนสุดท้ายก็เสียชีวิต ผมมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ตนเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มันเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างติดขัดในเชิงหลักการที่ไม่สามารถทำงานได้เลย เคยมีกรณีที่นำคนไร้บ้านที่ติดเหล้าส่งกลับบ้าน ปรากฏว่าแม้แต่บ้านตัวเองยังบอกว่า ผีบ้ามาอีกแล้ว เขาไม่รู้จะจัดการอย่างไร เรายังไม่เห็นท่าที หรือโครงสร้างที่จะทำให้ชุมชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง เติบโต เอื้ออำนวย” นายสิทธิพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image