องค์กรสตรีเผยร้อยละ 40 คดีข่มขืน-ความรุนแรง ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ ชี้ตำรวจไกล่เกลี่ยยอมความ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค (ถนนราชปรารภ) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเวทีเสวนาสาธารณะเนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรี ในหัวข้อ “การเข้าถึงความยุติธรรมที่ต้นทาง : ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง”

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวปาฐกถพิเศษ “ปฏิรูปตำรวจอย่างไรให้เป็นมิตรกับผู้หญิงและเด็ก” ตอนหนึ่งว่า กสม.พบปัญหาในชั้นพนักงานสอบสวนมีความล่าช้า ตัวเจ้าหน้าที่มีทัศนคติต่อคดีความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่ตัวระบบหากผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ อาทิ กลุ่มพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย หากถูกข่มขืนแล้วไปแจ้งความ โรงพักจะไม่มีล่ามภาษามือ ไม่มีคนช่วยสื่อสาร อีกทั้งยังพบปัญหาผู้เสียหาย ต้องไปแจ้งโรงพยาบาลว่าตัวเองถูกข่มขืน เพื่อนำไปสู่การตรวจร่องรอยในร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างมาก แม้ตำรวจไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ

และยิ่งเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ภาคใต้ ตำรวจแทบไม่ต้องทำคดีล่วงละเมิดทางเพศเลย เพราะมักจะส่งไปให้ผู้นำองค์กรศาสนาตัดสิน บางรายถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ข่มขืนตัวเอง ฉะนั้นรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรพิจารณาปรับปรุงวิธีการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับผู้เสียหาย เยียวยาให้ได้รับความยุติธรรม สร้างหลักประกันว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอีก เพราะแม้เราจะมีกฎหมายที่ก้าวหน้า แตหากไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สังคมก็จะเกิดการเลือกปฏิบัติไม่มีวันจบสิ้น

จากนั้นเป็นการเสวนา โดย นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวนำเสนอรายงานเรื่อง “การเข้าถึงความยุติธรรมในชั้นงานสอบสวน : กรณีความรุนแรงต่อผู้หญิง” ว่า รายงานนี้ได้รวบรวมปัญหาและความต้องการของผู้ถูกละเมิดสิทธิ ที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง โดยจากการศึกษาพบว่าร้อยละ 40 ของความผิดคดีทางเพศ อาทิ ข่มขืน รุมโทรม กระทำความรุนแรงในครอบครัว มักถูกถูกตำรวจเจรจาไกล่เกลี่ยให้ยอมความตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้กระทำผิดก็ไม่ถูกดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของคำถามสังคมที่ว่า ทำไมคดีความผิดเกี่ยวกับเพศไม่ลดลงเลย ก็เพราะคนกระทำ ทำแล้วไม่ต้องรับผิด จึงกระทำซ้ำ

Advertisement

นางสาวสุเพ็ญศรีกล่าวว่า รายงานการศึกษายังมีข้อเสนอต่อ สตช. อาทิ ต้องมีหลักสูตรอบรมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เรื่องเพศภาวะ จิตวิทยาการสอบสวน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้หญิง มีห้องสอบสวนเฉพาะสำหรับคดีทางเพศ ให้มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานี จัดตั้งกองบังคับการหรือกองกำกับการที่อยู่ใน สตช. เพื่อทำหน้าที่ดูแลคดีเกี่ยวกับเด็กและผู้หญิงโดยเฉพาะ สตช.ต้องกำหนดเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดที่จะร่วมยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และให้มีระบบตรวจสอบการทำงาน เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้สอดคล้อง

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกำญจนาภิเษก กล่าวว่า ช่วงที่มีการผลักดันให้มีตำรวจนายร้อยผู้หญิง เราหวังมาตลอดว่าพนักงานสอบสวนหญิงจะเป็นกลไก เป็นนวัตกรรมของกระบวนการยุติธรรม แต่เรากลับผิดหวัง เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง ขาดความละเอียดอ่อน ขาดความเข้าใจปัญหา ส่วนตัวจึงมองว่าอาจต้องไปรื้อหลักสูตรที่บ่มเพาะนักเรียนนายร้อยตำรวจแทน เพราะนักเรียนนายร้อยที่จบมาปีละ 300 กว่าคน คนเหล่านี้จะออกไปเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม นี่เป็นสิ่งที่จะทำได้ ก่อนจะไปเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่

“อาจต้องให้นักเรียนนายร้อยดูหนังเชอรี่แอนดันแคน เพื่อดูว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่อัปยศของวงการตำรวจไทย ให้ดูคดีศรีธนะขัณฑ์ รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้หญิง ว่าคืออะไร แล้วให้เขาหาคำตอบด้วยตัวเอง เมื่อนั้นเขาก็จะได้พลังแห่งความเป็นมนุษย์นำไปปฏิบัติงาน” นางทิชากล่าว

Advertisement

 

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกำญจนาภิเษก
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image