‘บิ๊กเต่า’เผยไทยลดโลกร้อนได้ตามเป้า ยื่นขอวงเงินสนับสนุนโครงการ 1,462 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 23 ที่เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ว่า ภายหลังที่ประเทศสมาชิกรัฐภาคีฯ 196 ประเทศ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และในพื้นที่หมู่เกาะไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2573 แต่หากไม่ดำเนินการใดๆ โลกจะร้อนขึ้นอีก 4.2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญของการประชุม COP23 ได้เน้นหารือแนวทางปฏิบัติ ข้อกำหนดการบังคับใช้ความตกลงปารีสก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุลงในปี 2563 โดยแต่ละประเทศต้องเพิ่มเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกอีก 11-13.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ ภายในปี 2573 ขณะที่ประเทศไทยได้ทำแผนลดก๊าซเรือนกระจกปี 2564-2573 เรียบร้อยแล้ว โดยลดให้ได้ร้อยละ 20-25 ซึ่งประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 40.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือร้อยละ 11 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ถือว่าสำเร็จเกินเป้าที่ประกาศไว้ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563

รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า ในส่วนประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยทำหนังสือขอรับการสนับสนุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไปยังกองทุนภูมิอากาศ หรือ GCF ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนช่วยเหลือแบบให้เปล่า ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 43 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,462 ล้านบาทนั้น ทางประเทศอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตว่าไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมองว่าประเทศเหล่านี้ยังพอมีศักยภาพในการดำเนินการเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่ข้อสรุป ซึ่งยังต้องร่วมหารือในเรื่องนี้ต่อไป

รัฐมนตรี ทส.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดนิทรรศการนำเสนอข้อมูลและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในงานการประชุม COP23 นั้น ประเทศไทยโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด Thailand Climate Action through Multi–Stakeholder Partnerships โดยใช้แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ การแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในพื้นที่ภาคเหนือ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าแบบประชารัฐ เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างชาติจำนวนมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image