คุยกันเรื่อง “ความหมายของชีวิต” กับ เกษม เพ็ญภินันท์

บทความพิเศษ

หลังจากที่ผมสูบบุหรี่หมดมวน ชายผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งสวมเสื้อกีฬาฟุตบอล (ทีมอะไรผมไม่แน่ใจ) กางเกงยีนส์สบายๆ รองเท้าแตะ (ฟองน้ำ) และแบกเป้ใบใหญ่อยู่บนหลังเพื่อไปเล่นฟุตบอลในยามเย็น ก็เดินทางมาถึงร้านกาแฟแห่งหนึ่งแถวท่าพระอาทิตย์ที่เรานัดกันไว้พอดี

ผมอนุมานเอาว่าสำหรับคนที่ไม่รู้จักชายผู้นี้ มองแว่บแรก ก็คงนึกว่าชายผู้นี้ไม่มีอะไรพิเศษ ดูเป็นสามัญชนคนติดดินธรรมดา

ดีไม่ดีอาจทึกทักไปว่าเป็นมนุษย์ชนชั้นกลางระดับล่างผู้ซึ่งเข้ามาระหกระเหินหางานทำในกรุงเทพฯ เสียด้วยซ้ำ

Advertisement

ใช่ครับ!

แน่นอนว่าเขาไม่ใช่ผู้วิเศษมาจากแห่งหนตำบลใดหรอก

เพียงแต่เขาเป็นคนไทยธรรมดาเพียงไม่กี่คน (หรืออาจจะเพียงคนเดียวผมไม่ทราบ) ที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านปรัชญากับนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส เช่น ฌาร์ก แดร์ริดา หรือนักคิดจากสำนักแฟรงก์เฟิร์ต อย่าง เอ็กเซล ฮอนเน็ต (และอื่นๆ อีกมากมายที่ทั้งเสียชีวิตไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่โดยตรง) ก็เท่านั้นเอง

Advertisement

เอาเข้าจริง ผมเกริ่นให้ชายผู้นี้รู้อยู่ก่อนแล้วสำหรับเรื่องราวที่เราจะคุยกันในบ่ายวานนี้ (12 ธันวาคม 2558) เพียงแต่ผมไม่ได้บอกเหตุผลว่าเหตุใด (หรือทำไม) ผมจึงต้องคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดีไม่ดีชายผู้นี้อาจจะงงเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากว่าผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาในสายธารของปรัชญาเช่นเดียวกัน (เพียงแต่ในระยะเวลาที่สั้นกว่ามาก)

ดังนั้น ผมจึงน่าจะใฝ่ใจกับเรื่องแบบนี้ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว (แล้วจะมาถามทำไม?) ผมนึกในใจ (ในขณะนั้น) ว่าไม่ต้องแปลกใจไปหรอกครับ ผมไม่ได้จะมาถกแถลงมุมมองเรื่องความหมายของชีวิตตามหลักทฤษฎีปรัชญา (ไม่ว่าจะมาจากสายใด) ให้มันวุ่นวายไปต่างๆ นานาหรอก

เป้าประสงค์ของผมนั้นมีเพียงว่าผมอยากจะมานั่งฟังทัศนะหรือมุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างอิ่มเอิบใจต่างหาก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความคิดเห็น (การมองโลก) จากคุรุผู้หนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญด้านนามธรรมอย่างสูงก็เท่านั้นเองครับ

[ราวกับบทนำ 1]

เท่าที่ผมจำความได้ ไม่เคยมีใครคุยเรื่องนี้กับผม และผมก็แทบไม่เคยคุยเรื่องนี้กับใคร (เพราะไม่มีใครคุยด้วย)

ผมไม่แน่ใจว่าคนในสังคม (ที่มีเอกลักษณ์) นี้เขาไม่เคยคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ หรือในทางกลับกันคิดแต่ไม่คุย แน่นอน ผมคิดว่าบางคนคงคิดเชื่อมโยงมาถึงเรื่องเหล่านี้บ้างเมื่อเจอมรสุมหรือปัญหาในชีวิต

แต่ที่ผมกำลังพูดถึงมันคนละเรื่อง ผมกำลังหมายถึงการคุยถึงหัวข้อนี้ในฐานะบทสนทนาประจำวันธรรมดา (เช่น บนโต๊ะอาหาร ในร้านกาแฟ ในวงเหล้า ฯลฯ) ต่างหาก

เท่าที่จำได้ (อีกครั้ง) ไม่มีเพื่อนอาจารย์ (รวมถึงเพื่อนในวงเหล้า) คุยเรื่องนี้กับผม ไม่มีลูกศิษย์ถามไถ่ถึงเรื่องนี้กับผม ไม่มีคนในครอบครัวเริ่มเปิดประเด็นเรื่องเหล่านี้กับผม (มาถึงตรงนี้ผมนึกถึงบทความ “ห้องชีวิต” ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่พูดถึงเรื่อง Compartmentalization of life ซึ่งว่าด้วยการใช้ชีวิตของมนุษย์ในแต่ละส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย (กล่าวคือไร้ซึ่ง “วิถีทาง”)

เช่นว่า นาย ก เป็นคนเคร่งศาสนา แต่ตกเย็นมาก็นัดกินเหล้ากับเพื่อนทุกวัน

หรือนาย ข เป็นนักสอนจริยศาสตร์ แต่ในชีวิตประจำวันดันไม่เคยแม้แต่จะอ้างเอ่ยถึงมัน เป็นต้น

ดังนั้น ก่อนตายคงไม่มีใครคุยถึงเรื่องราวเหล่านี้กับผม

ถ้าเช่นนั้นก็ช่างมัน ผมจะคุยเอง!

[ราวกับบทนำ 2]

เท่าที่ผมจำความได้ สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมที่กินง่ายอยู่ง่าย

กิจกรรมการใดๆ ล้วนหวังผลไปในทางรูปธรรมเป็นหลัก

เป็นสังคมที่มีเปลือกหนาและมาก แต่แก่นสารน้อย

ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชิงขี้เกียจ หากไม่นิยมการครุ่นคิด

เป็นสังคมที่นิยมอยู่แบบรวมหมู่ กลัวการอยู่คนเดียว

เท่าที่จำได้ (อีกครั้ง) อาจมีบ้างที่ผู้คนเสวนาพาทีกันเรื่องความหมายของชีวิต หากแต่เป็นไปในเชิงศาสนศาสตร์ไร้ทางเลือก (ซึ่งผมไม่นับ) จะมีสาระหรือไม่ก็นับเป็นอีกเรื่อง

และเท่าที่จำได้จริงๆ (อีกสักครั้งหนึ่ง) ย้อนไปไม่ถึงสิบกว่าปีมานี้ คมคำความว่า “ค้นหาตัวเอง” ก็บังเกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นไทย

ผมหวังว่าวลีความที่ใกล้เคียงที่สุดนี้น่าจะนำมาสู่การปฏิพัฒนาองค์นามธรรมในสังคมไทย

แม้ว่าในวันนี้ผมจะยังไม่เห็นวี่แววก็ตาม

[เนื้อหา 1]

เราเริ่มคุยกันถึงนามธรรมพื้นฐานของ “ความหมายของชีวิต” (ในเชิงธรรมชาติ) เป็นการเปิดประเด็นสนทนา คู่สนทนาของผม (อะฮ้า… อาจารย์เกษมนั่นเอง!) บอกเรา (ก่อนอื่นใด) ว่าเป็นเพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่างจากสัตว์ (แม้ว่าในเชิงชีววิทยาและความต้องการตามสภาพธรรมชาติจะไม่ต่างกันก็ตาม) ความหมายของชีวิตจึงเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมามีบทบาทกับมนุษย์เรา

อาจารย์เกษมกล่าวต่อว่า ความหมายของชีวิตจะเกิดมีขึ้นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องวางอยู่บนพื้นฐานสามสิ่ง (หรือผ่านกระบวนการสามขั้นตอน) กล่าวคือ

หนึ่ง “การรับรู้ผ่านภาษาและความหมาย” (language as a mediation)

สอง “ความเข้าใจ” (understanding)

และสาม “การเกิดภาพสะท้อนตนเอง” (self-reflexivity) ซึ่ง “คุณค่าของมนุษย์” จะเกิดมีขึ้นได้อย่างน้อยๆ ต้องอาศัยสามปัจจัยหลักนี้

(ซึ่งอาจารย์เกษมบอกว่าแม้สัตว์บางชนิดอาจมีระดับหรือโครงสร้างสมองที่ใกล้เคียงกับเรา หรือแม้กระทั่งว่าสัตว์บางชนิดอาจจะมีทักษะบางอย่างที่เหนือกว่าเรามาก หากสิ่งหนึ่งซึ่ง (ณ ตอนนี้) คงมีแต่ในเฉพาะมนุษย์ก็คือความสามารถในการทำความเข้าใจตนเอง ทบทวนตนเอง และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าภายในตนเองได้เท่านั้น)

ผมถามอาจารย์เกษมต่อว่าแล้วมนุษย์ที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวจะสามารถสร้างความหมายของชีวิตตัวเองได้หรือไม่

อาจารย์เกษมไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องการปลีกวิเวกเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตด้วยตนเอง

โดยยกตัวอย่างจากฉากตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Cast Away มาชี้ให้เห็นว่าชายผู้อยู่ตัวคนเดียวบนเกาะและใช้ชีวิตเพียงเพื่อเอาตัวรอด (หรือเพียงเพื่อ “มีชีวิต”) คงไม่สามารถสร้าง “ความหมายของชีวิต” ในลักษณะที่เราพูดถึงกันได้ เนื่องจากเพียงปัจจัยแรก กล่าวคือ “การสื่อสาร” หรือ “การแสดงออก” ก็ไม่สามารถมีคู่สนทนาได้เสียแล้ว

และที่สำคัญ “แรงผลักดันตามสัญชาตญาณ” เพียงเพื่อการดำรงชีวิตนั้นก็มิได้มีความสัมพันธ์กับ “คุณค่า” และความหมายในชีวิตของมนุษย์แต่อย่างใด

ผมนึกในใจว่ามนุษย์ (ในสภาวะเอกเทศ) อย่างน้อยที่สุดจะสามารถดำรงคุณค่าในตัวเอง (แม้เพียงนิด) ได้หรือไม่ เนื่องจากถ้าเราลองพิจารณาดูการมีอยู่ของดาวสุกสกาวดวงหนึ่ง (ซึ่งมิได้มีการรับรู้หรือมิได้มีความเข้าใจในตัวเองแต่อย่างใด) ก็ยังสามารถสร้างคุณค่าหรือความหมายในอีกรูปแบบหนึ่งต่อมนุษย์ได้

อย่างไรก็ดี อาจารย์เกษมยืนยัน (ในทัศนะของเขาเอง) ว่าการเชื่อมโยงจากมนุษย์ไปสู่สิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นสิ่งพื้นฐานสำคัญที่จะขาดเสียมิได้

“แล้วอาจารย์คิดยังไงกับเรื่องที่ว่าคนคนหนึ่งจะออกตามหาความหมายของชีวิต ทั้งๆ ที่เขา/เธออาจไม่เคยพิจารณา (หรือแม้แต่นึกถึง) เลยว่าสิ่งที่ว่าดำรงอยู่จริงหรือไม่”

ตรงนี้อาจารย์เกษมให้ทัศนะว่าหัวใจของเรื่องมันอยู่ที่การเดินทาง ณ ตอนนั้น (กระบวนการ) มิใช่ประเด็นการค้นพบหรือค้นหา (เป้าหมาย) กล่าวอีกอย่างก็คือมันมิใช่เรื่องของการที่พยายามจะค้นพบอะไรที่มีความหมาย หากแต่เป็นการใช้ชีวิตที่มีความหมายในตัวมันเองต่างหาก

หรือกล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ คุณค่าของชีวิตคือชีวิตที่ได้ใช้ไปอย่างเข้าใจชีวิต

อาจารย์เกษมยกตัวอย่างเรื่องภารโรงคนหนึ่งสมัยที่อาจารย์ยังศึกษาต่ออยู่ที่ New School for Social Research สหรัฐอเมริกา อาจารย์เล่าว่าทั้งๆ ที่อาชีพอย่างนี้น่าจะดูไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรีต่อสายตาคนทั่วไป

แต่ด้วยเหตุใดภารโรงคนดังกล่าวจึงดูมีความสุขและภาคภูมิใจกับอาชีพของเขา (ซึ่งปฏิบัติภารกิจมานานกว่าสามสิบสี่สิบปี)

และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสถานะดังกล่าวไม่เป็นที่พิสมัยจริง แล้วเหตุใดภารโรงผู้นั้นในแง่หนึ่งจึงได้รับการเคารพยอมรับจากบุคคลรอบข้างเสียนี่

ผมตั้งข้อสังเกตว่านั่นคงเป็นเพราะเขารู้สึกเป็นประโยชน์ที่ได้ช่วยเหลือคนรอบข้างใช่หรือไม่

อาจารย์บอกอาจจะ แต่สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าเขาค้นพบคุณค่าบางอย่าง ณ ตรงนั้นต่างหาก คุณค่าและความหมายของชีวิตคือชีวิตที่ได้ใช้ไปอย่างมีค่า (ซึ่งก็คือบ่อเกิดของความหมายที่นำไปสู่ปัจจัย Self-reflexivity นั่นเอง) ข้อสังเกต (ของผมเอง) ตรงนี้มีอยู่ว่าในความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่ง

กล่าวคือ ความหมายของมนุษย์และคุณค่าชนิดต่างๆ ซึ่งถูกจัดวางโดยสังคม (เฉพาะเจาะจงนั้นๆ) สุดท้ายแล้วอาจเป็นเพียงสิ่งสมมติ หรือการกำหนดภาวะอัตวิสัยในจินตกรรมแห่งสภาวะสังคมเพียงเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี ในส่วนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของชีวิตกับทฤษฎีปรัชญา (อย่างค่อนข้างเฉพาะเจาะจง) อาจารย์เกษมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่ามนุษย์สามารถแยกตัวตนของเขาออกจากโลกได้ หรือสามารถสรรค์สร้างความหมาย (คุณค่า) จากตัวตนของเขาอย่างเป็นเอกเทศได้ (กล่าวคือสภาวะ Solitude)

นามธรรมแบบฉบับอัตถิภาวนิยม (Existentialist Philosophy) จึงเป็นสิ่งที่อาจารย์ค่อนข้างเห็นด้วยกับบทบาทพื้นฐานของมัน (แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเห็นด้วยกับปีก Existentialism ทั้งหมด)

พูดง่ายๆ ตรงนี้ก็คือความหมายของชีวิตจะเกิดมีขึ้นไม่ได้ หากไร้ซึ่งปัจจัยการ “ใช้ชีวิตจริงอยู่ในโลก” (meditating & practicing) นั่นเอง

ในขณะที่ประเด็นความสัมพันธ์กับทางด้านศาสนา อาจารย์เกษมกล่าวถึงลักษณะของความย้อนแย้งของยุคสมัยใหม่ที่เป็นอยู่

กล่าวคือ เรื่องการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันกับการสูญเสียจิตวิญญาณ ชีวิตประจำวันคือสิ่งที่ยุคสมัยใหม่บรรจงสร้างขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตและดำรงตนตามแบบแผนของตารางชีวิต แมกซ์ เวเบอร์ กล่าวไว้ด้วยจิตวิญญาณของยุคสมัยใหม่ว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” (Time is money) ที่เป็นเงินเป็นทองก็เพื่อว่าเงินคือมาตรวัดของการจัดวางตารางชีวิต

ส่วนสภาวะการสูญเสียจิตวิญญาณจึงเกิดขึ้นเพราะตารางชีวิตเคลื่อนไปตามเวลาในชีวิตประจำวันที่มาตรวัดความสำเร็จ มาตรวัดคุณภาพของชีวิตหรือการงานได้รับการออกแบบไว้ เช่น เงิน การประกันคุณภาพ ความเสี่ยง เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จึงกำกับแนวทางในการดำเนินชีวิตจนชีวิตสูญเสียสภาวะจิตวิญญาณของตนเอง คนส่วนหนึ่งจึงพึ่งศาสนา เพราะศาสนาจะเติมเต็มส่วนที่หายไปให้กลับมาได้

ดังนั้น คนส่วนหนึ่งจึงหลีกหนีงานประจำไปปฏิบัติธรรมช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ

อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นกรณี “การค้นหาจิตวิญญาณที่หายไป” (หรือ Loosing Soul) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วจิตวิญญาณมันไม่ได้สูญหายไปไหน หากแต่เป็นเราเองที่ไม่เข้าใจวิถีของมัน แต่กลับติดกับดัก (entrapping) ต่อลักษณะของความย้อนแย้งของยุคสมัยใหม่

กล่าวเพิ่มเติมตรงนี้ก็คือส่วนทั้งสองที่ดูราวกับว่าเป็นคนละเรื่องกัน แต่แท้ที่จริงแล้วทั้งสองดำเนินไปด้วยกัน

ฉะนั้น การหลีกหนีสภาวะความโกลาหลเพื่อมุ่งไปค้นหาความสงบภายในจึงสวนทางกับหนทางที่เป็นธรรมชาติของตัวมันเอง

แต่อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นข้อดีข้อหนึ่งของศาสนา ที่ปลอบประโลมจิตวิญญาณของมนุษย์ในยามที่มีชีวิตอยู่ แลเป็นหลักประกันต่อเป้าหมายของชีวิตหลังความตายก็อาจเป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image