ข้อเสนอชาวใต้ยื่น ครม.สัญจร รอ’บิ๊กตู่’ตอบสนอง

หลายคนหลายฝ่ายต่างคาดหวังกับ ครม.บิ๊กตู่ 5Ž จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาให้เห็นผล จึงมีข้อเรียกร้อง ข้อเสนอแนะไปถึง ครม.ชุดใหม่

อย่างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ 97 คน ที่ลงชื่อและยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ใจความตอนหนึ่งระบุว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่านโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม โครงข่ายคมนาคมและพลังงาน รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และนโยบายการพัฒนาต่างๆ อาจส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของกลุ่มคนต่างๆ ในภาคใต้ในระยะยาว ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

เครือข่ายจึงขอเสนอแนะ ดังนี้ 1.เร่งรัดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกร อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นถึงการไม่รู้สึกใส่ใจไยดีต่อชีวิตและปากท้องของเกษตรกรŽ ทั้งที่มีความพยายามเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเครือข่ายเกษตรกร กลับถูกปิดกั้นจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด จึงขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรคือวาระสำคัญของรัฐบาล

Advertisement

2.ขอให้หยุดการดำเนินนโยบายและโครงการในภาคใต้ ที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ที่มีรายงานวิจัยยืนยันถึงผลกระทบและส่งผลเชื่อมโยงต่อการทำลายศักยภาพของภาคใต้อย่างชัดเจนแล้ว โครงการเวนคืนผืนป่า พร้อมทั้งกำหนดมาตรการความยั่งยืนให้เกษตรกรได้มีที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต รวมทั้งปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน

3.ให้รัฐบาลทบทวนนโยบาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ โดยจัดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบูรณาการมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสม ด้วยหลักการ กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดที่จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมการพัฒนา แก่สาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา

4.ส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้บรรลุ ภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืนŽ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในชีวิต แหล่งผลิตอาหาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น การสร้างนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและการประกอบการฐานราก อันเป็นศักยภาพ ทุน ภูมิทัศน์วัฒนธรรมและการพัฒนาของภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน

Advertisement

ทั้งนี้ ควรเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาสังคมในการเข้ามากำหนดอนาคตภาคใต้อย่างทั่วถึง กว้างขวางและครอบคลุม โดยเริ่มต้นจากการวางแผนร่วมอย่างเป็นระบบ ลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม บนพื้นฐานของความหลากหลายทางคุณค่าของพื้นที่

5.ข้อเสนอในข้างต้นสัมพันธ์และโยงใยอย่างยิ่งยวดกับระบบการเมืองแบบเปิดที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องคืนประชาธิปไตย ด้วยการเคารพอย่างมั่นคง จริงใจในโรดแมป การเลือกตั้ง ไม่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ และการใช้อำนาจที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว

ส่วนข้อเสนอด้านแรงงาน ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พูดถึง ครม.ชุดใหม่ที่โยก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว จาก รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า พล.ต.อ.อดุลย์มีความมุ่งมั่น และท่านเป็นตำรวจ ทำงานผ่านมวลชนมาพอสมควร ซึ่งมวลชนก็คือกลุ่มคนแรงงาน

ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์เป็นคนตั้งใจและจริงจังกับการทำงาน แต่จะให้ดีท่านต้องมีนโยบายที่โดนใจ ชนิดว่าหากพูดถึงนโยบายนี้ต้องนึกถึง พล.ต.อ.อดุลย์

ในส่วนของแรงงาน คือการให้ความเป็นธรรมกับแรงงานทั่วประเทศในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ไม่ใช่แค่ปรับในบางกลุ่มจังหวัด เพราะจริงๆ แล้วคนทำงานมีทั่วทุกภาค ผมทราบมาว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ และจะพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงใน 30 จังหวัด หากเป็นจริงถือว่าไม่เป็นธรรมมากๆ เพราะคนมีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังลำบาก ค่าครองชีพไม่เพียงพอ หากฐานล่างยังไม่ดี แล้วเศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร

ที่สำคัญกระทรวงแรงงานต้องปฏิรูปตัวเองด้วย เพราะทำงานรูปแบบข้าราชการเกินไป ต้องเน้นทำงานเชิงรุกมากขึ้น และต้องทำงานเชิงป้องกัน ไม่ใช่ทำงานที่ปลายเหตุ คือเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องจ้างงานไม่เป็นธรรมจึงเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่ง คสรท.จะหารือร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ เพื่อขอเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ต่อไป

เชื่อว่าท่านอดุลย์จะเดินหน้าช่วยให้ค่าครองชีพของแรงงานเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันตามหลักสากลแรงงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน จึงจะเพียงพอ ประมาณ 600-700 บาท ทุกวันนี้ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ต้องทำงานโอที เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 500-600 บาทŽ ชาลีเสนอด้วยความหวัง

มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) บอกว่า ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ คปค.จะหารือร่วมกัน เพื่อรวบรวมข้อเสนอต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ และจะทำเรื่องขอเข้าพบภายใน 1-2 สัปดาห์ ข้อเสนอยังคงยืนยันเหมือนเดิมในเรื่องการปฏิรูปประกันสังคม โดยเฉพาะการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ซึ่งหมดวาระตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน และบอร์ดนี้แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อหมดวาระตามอำนาจ คสช.ไม่ได้ระบุให้รักษาการ ดังนั้น ควรเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด จะได้เดินหน้าปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมจริงๆ มีผู้ประกันตนเข้าไปร่วมอยู่ในบอร์ดด้วย

นอกจากนี้ จะเสนอข้อเท็จจริงกรณีการเพิ่มเงินสมทบในกลุ่มผู้ประกันตนเงินเดือน 16,000 บาทขึ้นไปว่า คปค.ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ประกันตนกลุ่มนี้ต้องการเพิ่มเงินสมทบ แต่มีบางคนไม่เข้าใจและคัดค้าน จึงกังวลว่าจะทำให้เรื่องยุติลง ทั้งๆ ที่การเพิ่มเงินสมทบกรณีกลุ่มเงินเดือน 16,000-20,000 บาทขึ้นไป โดยจ่ายเฉลี่ยรายเดือนสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ส่งผลดีต่อการออมของผู้ประกันตน ก็จะเสนอเรื่องนี้ด้วย

รวมทั้งขอให้ พล.ต.อ.อดุลย์เร่งรัดเรื่องสิทธิประโยชน์อื่นๆ อย่างการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร ที่ สปส.บอกว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตน โดยปรับเพิ่มจาก 400 บาทเป็น 600 บาท ให้ผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 6 ขวบ จำกัดแค่ 3 คนนั้น หากจะดีกว่านี้ควรเพิ่มเป็นตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี และต้องไม่จำกัดจำนวนบุตร ซึ่งจะล้อตามกฎหมายที่ให้ค่าคลอด 13,000 บาทต่อคน ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

นอกจากนี้ คปค.จะติดตามความคืบหน้าเรื่องการนิรโทษกรณีผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เป็นกลุ่มจ่ายเงินสมทบเอง แต่หลุดจ่าย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้คืนสิทธิ รวมถึงการเพิ่มค่าชดเชยเลิกจ้าง 400 วัน ก็ยังไม่แล้วเสร็จเช่นกัน ทั้งหมดจึงอยู่ที่รัฐมนตรีคนใหม่จะสานต่อ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตนŽ

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะถึง ครม.บิ๊กตู่ 5Ž ที่หวังว่าจะได้รับการตอบสนอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image