กรมควบคุมโรคดึงภาคีเครือข่ายลดการ “ตีตรา-เลือกปฎิบัติ” ต่อผู้ป่วยเอดส์

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยยังมีอยู่จริง และในหลายกรณีนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ปีนี้ กรมควบคุมโรค จึงมุ่งเป้าให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งขณะนี้มีเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เป็นตัวอย่างที่จะไม่ละเมิดสิทธิด้านดังกล่าว ด้วยการประกาศนโยบายขององค์กรว่าจะ “ไม่ใช้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการคัดเลือก/รับบุคลากรเข้าทำงาน หรือการเลิกจ้างบุคลากรที่ติดเชื้อเอชไอวี และดูแลคนในองค์กรให้ปลอดภัยจากเอดส์ รวมทั้งส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันกับ ผู้มีเชื้อเอชไอวีได้อย่างปกติในที่ทำงาน”

นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติ ปีนี้จะเริ่มในสถานบริการสุขภาพนำร่อง 13 จังหวัด ในพื้นที่ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 13 แห่ง สำหรับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเอดส์นั้น มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ดูแลในกรณีมีการร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิ และยังมีหน่วยงานอื่นที่ดูแลปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเอดส์ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้น ปีนี้ กรมควบคุมโรคจะดำเนินการ 1.ขับเคลื่อนการจัดวางโครงสร้างการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ทุกจังหวัด โดยนำรูปแบบและบทเรียนจากการทำงานของภาคประชาสังคม และการจัดทีมแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ เป็นแนวทางสำหรับให้ จังหวัดนำไปประยุกต์ใช้ 2.จัดทำแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เป็นจุดรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น เช่น กรณีมีการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ในเด็ก/นักเรียน/นักศึกษา กรณีการละเมิดสิทธิโดยการให้ออกจากงาน กรณีไม่ให้บริการสุขภาพหรือจัดบริการโดยเลือกปฏิบัติ เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งเป้ายุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image