เปิด “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” ด้วยพระเมตตาในหลวงร.9 เพื่อชาวภาคตะวันออก

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนทั่วทั้งประเทศ

ศ.คลินิก นพ.พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เผยว่า สถาบันการแพทย์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ และ อาคารที่พักบุคลากร เริ่มสร้างนับแต่ปี 2555 ใช้เงินทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 319 ไร่ โดยนอกจากจะรองรับการรักษาประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นอุตสาหกรรมหนักแล้ว ยังมุ่งสร้างบัณฑิตทางการแพทย์ จากแต่เดิมโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้นมีผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนมาก จึงไม่เหมาะแก่การศึกษาของแพทย์ในระดับปริญญาตรี แต่ที่สถาบันการแพทย์ฯนี้ นักศึกษาแพทย์จะได้ฝึกเรื่องต่างๆที่เป็นโรคทั่วไปมากขึ้น ผลิตบัณฑิตแพทย์ได้ปีละ 212 คน บัณฑิตพยาบาล 250 คน และมีหลักสูตรบัณฑิตวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ที่เปิดสอนเป็นที่แรก ปีละ 50 คน มีจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วย 550 เตียง รับผู้ป่วยนอกได้ 1 ล้านราย และผู้ป่วยใน 17,000 รายต่อปี ครอบคลุมประชากรในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว

ขณะที่ อ.นพ.ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผอ.รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ กล่าวว่า การออกแบบการให้บริการที่นี่ได้สำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ พบว่าที่สมุทรปราการขาดการรักษาอภิบาลทารกแรกเกิด ,การสวนหัวใจ ที่มีน้อย รวมถึงเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีโรคบางอย่าง เช่นการได้ยิน หรืออุบัติเหตุ จึงดีไซน์การให้บริการที่รองรับด้านนี้ นอกจากนี้ยังไม่ได้แบ่งการบริการเป็นแผนกๆ เหมือนที่อื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินมาพบหมอหลายครั้ง แต่แบ่งเป็น one stop service คือสามารถหาหมอโรคใกล้เคียงได้ในครั้งเดียว เป็นระบบที่โรงพยาบาลต่างชาติใช้แล้วได้ประโยชน์จริง ส่วนโรคหนักๆ อย่างมะเร็งนั้น เนื่องจากมีความซับซ้อนจึงยังไม่ได้เปิดให้บริการ หากแต่มีบริการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดีที่พญาไท

“นอกจากนี้เรายังมีห้องธาราบำบัด สำหรับผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อ มีปัญหาการเคลื่อนไหว และหลังผ่าตัด รวมไปถึงหุ่นยนต์ฝึกเดิน นวัตกรรมใหม่ในการฝึกผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่สามารถปรับโหมดขึ้นลงบันไดได้ จำลองการเดินจากหุ่นยนต์ รวมถึงห้องเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่างๆ อย่าง ห้องฝึกการกลืน ห้องพาราฟิน บ้านจำลอง ช่วยให้ได้เห็นสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อกลับบ้าน ซึ่งขณะที่สถาบันการแพทย์ฯทั้งหมดก่อสร้างเสร็จแล้ว 98% แต่ยังขาดอุปกรณ์การแพทย์อีก 2000-3000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณปี 2564 โดยจะเปิดให้บริการมีนาคม 2561” อ.นพ.ไพโรจน์กล่าว

Advertisement

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image