เครือข่ายเภสัชกรฯ ค้านร่าง “พ.ร.บ.ยา” ฉบับกฤษฎีกา เหตุหละหลวมส่งผลเสียผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตัวแทนเครือข่ายเภสัชกรจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภาคใต้ ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และตัวแทนกลุ่มเภสัชกรจากจังหวัดเลย ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา และเชียงใหม่ ฯลฯ กว่า 20-30 คน ซึ่งนำโดย ภก.สมสุข สัมพันธ์ประทีป ประธานชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภาคใต้ และภก.เกียรติศักดิ์ ปานรังศรี ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.ภูเก็ต ในนามกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ร่วมเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ…. ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และขอให้นำร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับก่อนหน้านี้ที่ได้มีการแก้ไขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพเข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)แทน

ภก.สมสุข กล่าวว่า จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ มีความหละหลวมที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ยาของผู้บริโภค เนื่องจากระบุให้เพิ่มข้อยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตผลิตยา นำเข้ายา ขายยา การให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยาสามารถผลิตยา กระจายยา แบ่งบรรจุยาให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะรับยาไม่ปลอดภัย ประกอบกับการให้ต่ออายุทะเบียนตำรับยาได้โดยไม่มีการทบทวนความปลอดภัย และไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ของผู้สั่งใช้ยา และผู้จ่ายยาออกจากกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับยาโดยขาดการตรวจสอบซ้ำเพื่อความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ขัดหลักสากล และการอนุญาตให้โฆษณายาทุกประเภท รวมทั้งยาที่รักษาโรคที่ร้ายแรงได้ และไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย ที่สำคัญไม่มีข้อห้ามการผลิตและขายยาชุด

“ทางเครือข่ายฯ จึงขอเสนอให้ทาง อย. ส่งหนังสือเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขโดยสหสาขาวิชาชีพไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำร่างดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแทนร่างชุดเดิม และขอให้รัฐมนตรี สธ.ช่วยสนับสนุนร่างนี้ด้วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนทั่วประเทศ” ภก.สมสุข กล่าว

ภก.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้ อย.เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ของสหสาขาวิชาชีพ เข้าสู่การพิจารณาของครม.ไปก่อน ส่วนครม.จะพิจารณาก็จะเป็นขั้นตอนไป แต่หาก อย.ยังยืนยันร่าง พ.ร.บ. ยา ของคณะกรรมการกฤษฏีกา ทางเครือข่ายฯก็จะคัดค้านถึงที่สุด ทั้งนี้ หากจะมาบอกว่าการปรับแก้ร่างกฎหมายใหม่จะต้องใช้ระยะเวลา ทางเครือข่ายฯก็ยินดีกว่าต้องเอาร่างกฎหมายที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาของผู้บริโภค

Advertisement

นพ.บุญชัย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีการแก้ไขมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการแก้ไขมาตลอด เพราะ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ใช้มานาน 49 ปี ต้องถึงเวลาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อมีการเสนอแก้ไข ก็จะมีขอทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งครม.ก็รับฟัง อย่างล่าสุดได้ให้ทาง สธ.มาพิจารณายืนยันร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งมาหารือกับทางกลุ่มต่างๆ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. รับทราบ และอยู่ระหว่างประสานเพื่อพูดคุยกับทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล เพื่อหารือว่า หากยึดร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อเสนอของสหสาขาวิชาชีพได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image