นักโภชนาการแนะผู้บริหาร สธ.ลดอ้วน ขอทำอย่างจริงจัง อย่า แค่อวดกัน เพราะไม่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวถึงกรณี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศนโยบาย ” ผู้บริหาร สธ. ไร้พุ่ง มุ่งสู่สุขภาพดี” เพื่อเป็นต้นแบบให้กับบุคลากรในองค์กรและองค์กรอื่นๆ ว่า เป็นเรื่องค่อนข้างท้าทาย แต่ถือเป็นเรื่องดีมาก เนื่องจากคนในกระทรวงตระหนักดีว่าอ้วนลงพุง คือต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือด หัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแลรักษา และกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงคือ นักบริหารที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่การเผาผลาญพลังงานลดลง เก็บไว้ในรูปของไขมันสะสมในร่างกาย วัยนี้เป็นวัยที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย โดยเฉพาะผู้บริหารที่ส่วนใหญ่จะนั่งประชุม กินดี อยู่ดีมากขึ้น มีงานเลี้ยงบ่อย และที่สำคัญอ้างว่างานยุ่ง เลยไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทั้งหมดคือความเสี่ยงของผู้บริหารและคนวัยทำงาน

“กระทรวงต้องทำอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่ามีหลายหน่วยงานจับตาดูกระทรวงอยู่ โดยการสร้างแรงจูงใจให้คนในองค์กรเกิดความฮึกเหิมที่อยากจะลดอ้วนลดพุงอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยในองค์กรให้เอื้อต่อการกินอาหารและออกกำลังกายเพื่อลดพุง โดยเฉพาะเรื่องของแรงจูงใจนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่ทำเพราะโดนบังคับขู่หรือขอร้องจากผู้บังคับบัญชา หรือทำตามหน้าที่ เพราะจะทำเพื่ออวดกัน แต่ไม่ยั่งยืน” นายสง่า กล่าว และว่า สิ่งสำคัญ ต้องสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลดพุง เช่น ปรับเปลี่ยนชนิดอาหารว่างที่เสิร์ฟในระหว่างประชุมให้เป็นมิตรต่อสุขภาพ ให้พลังงานไม่เกิน 150 แคลอรี่ มีการลุกขึ้นยืดเหยียดเป็นระยะๆ ในช่วงการประชุม หรือระหว่างทำงาน การจัดอบรมผู้ที่จัดอาหารว่าง และอาหารมื้อกลางวันให้ผู้บริหาร เพื่อให้มีทักษะต่อการจัดอาหารที่มีคุณค่า อร่อย แต่ให้พลังงานที่พอดีและสมดุล อบรมพัฒนาความรู้ผู้ขายอาหารในโรงอาหาร การออกกฎระเบียบการนำอาหารมาจำหน่าย การใช้โรงอาหารเป็นแหล่งเรียนรู้ในการกินอาหารและออกกำลังกาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image