ชักธงอหิงสา ! ชาวป้อมมหากาฬ ยื่น 5 ข้อเสนอ ยันไม่ขวางพัฒนา-ขออยู่ร่วมโบราณสถาน

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ มีการประชุมหารือในประเด็นการไล่รื้อชุมชน ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมากว่า 20 ปี โดยล่าสุด กรุงเทพมหานคร เตรียมออกหนังสือปิดประกาศให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬย้ายออกจากพื้นที่ คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากต้องการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะ โดยมีการมอบเงินเยียวยาให้ชาวบ้านแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 57 หลังคาเรือน ไม่ยอมออกจากพื้นที่

ป้อมมหากาฬ

นางสาวอินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมด้านสังคม ซึ่งเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวว่า ตั้งแต่มีข่าวว่าจะมีการสั่งให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ครั้งล่าสุด ไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครลงพื้นที่มาพูดคุยกับชาวบ้านโดยตรงเลย ส่วนกรณีที่กล่าวว่ามีการรับเงินนั้น ก็ไม่ใช่ทุกหลังคาเรือน และการรับเงินดังกล่าวก็ไม่ได้ครบ 100% โดยตลอด 24 ปีที่ผ่านมา ชุมชนได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาคราชการ วิชาการ เพื่อหาทางออก รวมทั้งเกิดการเจรจากับกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด โดยได้ยื่นข้อเสนอในการชำระเงินคืนแก่กทม. และการจัดการที่ดินนี้ร่วมกัน แต่ข้อมูลเช่นนี้ภาครัฐกลับไม่พูดถึง

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่อาศัยในชุมชนต่อไป โดยล่าสุดมีการออกแถลงการณ์ในนามชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงสร้างแคมเปญรณรงค์ในเวปไซต์ change.org อีกด้วย

Advertisement

 

ป้อมมหากาฬ

นางสาวอินทิรายังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 27 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงาน “รวมพลคนป้อมมหากาฬ” ซึ่งจะมีการอ่านแถลงการณ์ของชาวบ้าน พร้อมทั้งเปิดเวทีเสวนาในประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนโบราณสถาน โดยมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายรายเข้าร่วม อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม รศ. ชาตรี ประกิตนนทการ อ.ปฐมฤกษ์ เกตุทัต และดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เป็นต้น

Advertisement

ชุมชนป้อมมหากาฬ ยังไม่ได้รับหนังสือหรือจดหมาย แจ้งมาจากกรุงเทพมหานครถึงชุมชนฯ อย่างเป็นทางการเลย แต่เป็นการทราบสถานการณ์ผ่านสื่อเท่านั้น จากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านทุกคนยังคงสู้ และมีกำลังใจดี ซึ่งต้องขอขอบคุณพี่น้องเครือข่ายชุมชนและองค์กรต่างๆ โดยขอยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา และขอเจรจาข้อตกลงต่างๆ กับทางกทม.ที่จะทำให้มีการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างชุมชนเก่าแก่กับโบราณสถาน โดยพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถอยู่อาศัยคู่กับสวนสาธารณะได้” นางสาวอินทิรากล่าว

ทั้งนี้ นายพิพิฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวโดยสนับสนุนให้ทำการประท้วง เนื่องจากเป็นสิทธิทางวัฒธรรม

ป้อมมหากาฬ

แถลงการณ์ชุมชนป้อมมหากาฬ
กรณี ความคืบหน้ากรณีให้ชุมชนป้อมมหากาฬ
รื้อย้ายออกจากพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นสวน

จากรายงานข่าวแจ้งความคืบหน้ากรณีการให้ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร จำนวน 57 หลังคาเรือน รื้อย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะนั้น
ชุมชนป้อมมหากาฬได้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวผ่านทางการรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ โดยยังไม่มีหนังสือหรือจดหมาย แจ้งมาจากกรุงเทพมหานครถึงชุมชนฯ อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ก่อนอื่นนั้น พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬ ต้องขอขอบคุณทุกพลัง ทุกเสียงที่ติดตามไถ่ถาม แสดงความห่วงใยเข้ามาไม่ขาดสาย เราขอขอบพระคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬ ขอเรียนว่า เราเคารพต่อหลักการการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเสมอมา บนหลักการดังกล่าวนี้ เราได้แสดงจุดยืนมาโดยตลอดระยะเวลา 24 ปีของกรณีปัญหาการจัดการที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ โดยเราได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน หลายสถาบัน หลายองค์กร หลายกลุ่ม ในการศึกษาวิจัย จัดทำข้อเสนอ แนวทางแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการมีส่วนร่วม รวมทั้งเกิดการพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ รอบด้าน
ขณะเดียวกัน ก็เกิดพื้นที่เจรจาทั้งเวทีปรึกษาหารือ เวทีสาธารณะระหว่างชุมชนและกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง ที่นำไปสู่การยื่นข้อเสนอในการชำระเงินคืนแก่กทม. การบริหารจัดการสวนสาธารณะป้อมมหากาฬอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน อันครอบคลุมถึงการบริหารจัดการบ้านไม้โบราณและตัวโบราณสถานป้อมมหากาฬด้วย
จากการดำเนินการที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬไม่ได้เพิกเฉย หรือขัดขวางแนวทางการพัฒนาสวนสาธารณะแต่อย่างใด ซึ่งย้อนแย้งต่อข้อมูลจากกรุงเทพมหานครที่ปรากฎในพื้นที่สื่อต่างๆ ในเวลานี้
พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬ เรายังขอยืนยันว่า เราเคารพต่อกฎหมาย เราคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม และเรายึดมั่นบนหลักการการมีส่วนร่วมเสมอ โดยชุมชนป้อมมหากาฬขอแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ดังนี้

1. ชุมชนป้อมมหากาฬ พร้อมต้อนรับคณะผู้บริหาร และเจ้าพนักงานกรุงเทพมหานครทุกท่านที่จะเข้ามาดำเนินการรื้อสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชน โดยเราขอทราบความชัดเจนว่า การดำเนินการรื้อย้ายต่างๆ นั้น ระยะเวลาจะเริ่มและสิ้นสุดเมื่อใด
2. การแก้ไขปัญหา ทั้งการจัดหาที่อยู่ใหม่ การประกอบอาชีพ การสัญจรเดินทาง และการศึกษาของบุตรหลานชุมชนป้อมมหากาฬ ทางกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการอย่างไร มีแผนรองรับอย่างเป็นระบบหรือไม่
เพราะจุดเริ่มต้นของปัญหาการจัดการที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬที่ยืดเยื้อกว่า 24 ปีนั้น ก่อเกิดมาจากการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครต่อกรณีการจัดสรรที่ดินใหม่ให้ชุมชนที่ไร้แผนรองรับและไม่เป็นระบบ
แน่นอนว่า บทเรียนจากพื้นที่โครงการฉลองกรุง เขตมีนบุรี ในอดีตนั้น ที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ การเดินทางแสนยากลำบาก ประกอบอาชีพไม่ได้ การเข้าถึงการศึกษาของบุตรหลานเป็นไปได้ยาก …ภาพเหล่านี้ยังติดตาพี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬเสมอมา
3.หากพิจารณาถึงบริบทชุมชนป้อมมหากาฬ เราเป็นชุมชนในเขตเมืองเก่า ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การศึกษาวิจัย ภาพถ่ายที่สะท้อนชัดถึงความเป็นชุมชนตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้ว่า ชุมชนจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของเมือง มีคนอพยพโยกย้ายหมุนเวียนไปมา หากแต่รากเหง้าของความเป็นชุมชนเก่าแก่ก็ยังปรากฎชัด …บ้านไม้โบราณ และความทรงจำของหลายตระกูลที่สืบสานกันมายังคงดำรงอยู่ในชุมชน
คำถามสำคัญของชุมชนคือ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ชุมชนเพียรพยายามอนุรักษ์ดูแลและถ่ายทอดแก่ลูกหลานและบุคคลทั่วไปที่แวะเวียนเข้ามาเรียนรู้ในชุมชนเช่นนี้ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการอย่างไร จะเก็บคุณค่าเหล่านี้ไว้ในพิพิธภัณฑ์ ให้สังคมศึกษาเรียนรู้จากป้าย จากแผ่นพับ จากอินเตอร์เน็ตเท่านั้นหรือ
ขณะที่ หลายชุมชนที่มีปัญหาการจัดการที่ดินกับกรุงเทพมหานคร อย่างแฟลตดินแดง คลองลาดพร้าว ฯลฯ ก็ยังสามารถแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมได้ เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินแนวทางการมีส่วนร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬบ้าง

4. ข้อเสนอของชุมชนป้อมมหากาฬ 5 ข้อ คือ
– ชาวชุมชนจะมีการจัดตั้งเวรยามเพื่อรักษาความปลอดภัย
– ชาวชุมชนขออาสาดูแลรักษาความสะอาดสวนสาธารณะ
– ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถอยู่อาศัยคู่กับสวนสาธารณะ
– กรุงเทพมหานครจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากชุมชน
– ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชนให้เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬยังขอยืนยันตามแนวทางข้อเสนอเดิม โดยข้อเสนอ 5 ข้อนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬจะไม่รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

5. ขอเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครดำเนินการพัฒนาสวนสาธารณะให้เกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจากการเปิดพื้นที่แก่สังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การประชาพิจารณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งเข้าร่วมในเวทีเจรจาเพื่อหาแนวทางจัดการแก้ไขปัญหา
โดย วัน เวลา และสถานที่ ขอให้กรุงเทพมหานคร กำหนดและแจ้งแก่ชุมชนและสาธารณะ เพื่อจะได้นำไปสู่การค้นเจอทางออกในการบริหารจัดการสวนสาธารณะร่วมกันในอนาคต
ท้ายที่สุดนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ เราไม่มีกำลังทรัพย์ใดๆ แต่เรามีกำลังใจ กำลังกายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เรียนรู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ด้วยจิตคารวะ
ชุมชนป้อมมหากาฬ
7 มีนาคม พ.ศ.2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image