สรุปยอด 7 วันอันตราย ตาย 423 เจ็บ 4,005 อุบัติเหตุลด 2% เสียชีวิตลด 11.5%

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 4 มกราคม ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของศปถ.ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า รวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 386 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 402 คน

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,001 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,993 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 730,769 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 124,034 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 36,487 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,721 ราย

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 19 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครปฐม และอุบลราชธานี 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 21 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (28 ธันวาคม 60 – 3 มกราคม 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 ราย ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน

Advertisement

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 139 ครั้ง

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (17 ราย)

Advertisement

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (145 คน)

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.23

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.91 รถปิคอัพ 6.84

ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.21 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.29

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.22

นายสุธี กล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชน ภาคประชาชน และข้าราชการทุกฝ่ายที่ช่วยกันทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา ตลอดเจ็ดวันที่มีการดำเนินการมาทั้งในส่วนของศปถ. จังหวัด อำเภอ ชุมชน เป็นประโยชน์อย่างมาก และทำให้ปีนี้ยอดอุบัติเหตุลดลงกว่า 2% ยอดเสียชีวิตลดลงประมาณ 11.5% ทั้งนี้รัฐบาลได้เอาใจใส่และเล็งเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่สัมฤทธิ์ผลซึ่งเราจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความสูญเสียและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน รวมถึงทางน้ำด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุที่ทำให้การดำเนินการประสบความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย 1.กฎหมาย และคำสั่งคสช.ที่มีอยู่ ทำให้เกิดการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดและเข้มข้น และ 2.การตรวจจับความเร็วที่มีการดำเนินการตรวจจับที่ค่อนข้างมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดน้อยลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image