‘บิ๊กเต่า’เล็งฟื้นเขาหัวโล้น ‘อธิบดีกรมน้ำ’ยันปีนี้ไม่แล้งมีใช้ถึงหน้าฝน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ภายใต้หัวข้อ “น้ำและการพัฒนาอาชีพ” ที่ห้องบีซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าจะใช้น้ำอย่างไรให้คุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด และว่า ตั้งแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้หยิบยกประเด็นน้ำขึ้นเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ให้ลูกหลานได้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพที่สุด

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จากการสำรวจแหล่งน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 330,000 บ่อ ซึ่งมีทั้งบ่อน้ำบาดาลในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมทั้งเขื่อนขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งเพียงพอแล้วในการกักเก็บน้ำ

“แต่วันนี้เกิดภัยแล้งขึ้นได้อย่างไร ขณะที่น้ำต้นทุนมาจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จึงต้องหาวิธีการที่จะเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ส่วนการทำฝนเทียมก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ จึงไม่สามารถผลิตน้ำต้นทุนได้เสมอไป และที่ผ่านมา เมื่อมีน้ำมาก กลับปล่อยลงสู่ทะเล ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนป่าต้นน้ำก็ถูกทำลาย ถูกบุกรุกจากนายทุน ชาวบ้านและชนเผ่าเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ต้นน้ำ และอ้างสิทธิว่าอยู่กินมานาน บางพื้นที่เรียกร้องขอน้ำจากรัฐบาลแต่การเกษตรกรรมบางพื้นที่มีต้นทุนสูง แต่ผลผลิตที่ได้มีราคาต่ำ จึงมีปัญหาตามมาเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำลายป่าต้นน้ำทั้งสิ้น จากนี้รัฐบาลจะดูแลทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดว่าแต่ละพื้นที่ต้องเพาะปลูกอะไรจึงจะเหมาะสมที่สุด” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว และว่า กำลังจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาหัวโล้นเพื่อให้ได้ป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพราะป่าเป็นต้นน้ำสำคัญที่จะช่วยเก็บกักน้ำและชะลอการไหลของน้ำได้ ส่วนการสร้างเขื่อนนั้น ต้องตอบให้ได้ว่าจะเอาน้ำไปทำอะไร

Advertisement

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำฝนที่ตกในปี 2558 ต่ำสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง

“แต่ยืนยันว่าปีนี้มีการบริหารจัดการที่ดี จะไม่ยอมให้มีการกดดันให้ปล่อยน้ำไปให้เฉพาะกลุ่ม เช่น ขอน้ำไปทำนาแล้วต้องปล่อย จึงเชื่อว่าน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคไปจนถึงฤดูฝน ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ หากทำตามแผนระบายน้ำ เขื่อนภูมิพลจะมีน้ำใช้จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม เขื่อนสิริกิติ์ ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม เขื่อนศรีนครินทร์ วันที่ 29 พฤศจิกายน เขื่อนวชิราลงกรณ วันที่ 8 สิงหาคม เขื่อนอุบลรัตน์ วันที่ 1 พฤษภาคม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันที่ 1 ตุลาคม และเขื่อนรัชชประภา วันที่ 1 เมษายน เป็นต้น ขณะนี้มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งเพียง 17 จังหวัด 67 อำเภอ 305 ตำบล 2,576 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.44 ของหมู่บ้านทั้งหมด เมื่อเทียบกับวันเดียวกันในปี 2556 มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งถึง 40 จังหวัด 418 อำเภอ 2,825 ตำบล 28,093 หมู่บ้าน เฉลี่ยร้อยละ 37.47 ของหมู่บ้านทั้งหมด สถานการณ์ถือว่ารุนแรงกว่าปีนี้มาก แต่ไม่เป็นข่าวครึกโครมเหมือนในปัจจุบัน” นายสุพจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image