นักวิชาการประมง ทช. หวั่นร้อนจัด ปะการังฟอกขาวช่วงเม.ย.

ทช. หวั่นปะการังฟอกขาวเมษา เร่งวางมาตรการรับมือ-บรรเทาผลกระทบ

วันที่ 23 มีนาคม น.ส.นลินี ทองแถม นักวิชาการประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า จากที่มีปรากฏการณ์เอลนิโญ่ และมีการคาดว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาว จะเข้าสู่ทะเลของไทยในปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้ ทช.ได้วางมาตรการและกรอบการดำเนินการต่างๆ มีขั้นการเตรียมความพร้อมในช่วงมกราคม ขั้นการเฝ้าระวังปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน ขั้นการเผชิญเหตุปะการังฟอกขาว ช่วงเมษายน-พฤษภาคม ในกรณีที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และขั้นการดำเนินการหลังการเกิดปะการังฟอกขาวในช่วงมิถุนายน-ธันวาคม

น.ส.นลินี กล่าวว่า ทช.ให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลในจุดสำคัญต่าง ๆ ตามแผนเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว ซึ่งระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคมนี้ มีการสำรวจทะเลอันดามัน โดยศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) สำรวจการเกิดปะการังฟอกขาว บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน และเกาะราชาใหญ่ รวมทั้งเก็บตัวอย่างปะการังเพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ และตัวอย่างเนื้อเยื่อปะการังเพื่อศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรม ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการพบปะการังฟอกขาวในทะเลอันดามัน

“จากข้อมูลของนักวิชาการที่ระบุว่า แนวปะการังของประเทศไทย 150,000 ไร่ อยู่ในสภาวะวิกฤต เหลือพื้นที่ปะการังที่ยังมีสภาพสมบูรณ์อยู่เพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ซึ่งในพื้นที่บางแห่งทางทะเลอันดามันยังมีปะการังสมบูรณ์อยู่ นอกจากนี้เราได้วิจัยและพัฒนาเทคนิคการฟื้นฟูปะการังมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูปะการังทั้งแบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศโดยการทำกิ่งพันธุ์ในแปลงอนุบาลและนำไปปลูกฟื้นฟูในบริเวณที่เสื่อมโทรม รวมทั้งมาตรการในการใช้ประโยชน์ปะการังอย่างยั่งยืน” น.ส.นลินีกล่าว

Advertisement

น.ส.นลินี กล่าวว่า ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นี้ ทางกรมฯถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญมากในการเผชิญเหตุปะการังฟอกขาว ทั้งนี้จากการประมวลข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลและภูมิอากาศในภูมิภาคแล้วทำให้ยังคงคาดการณ์ว่าน่ามีแนวโน้มที่จะเกิดปะการังฟอกขาวได้ในช่วงต้นถึงกลางปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลในภูมิภาคนี้จะมีค่าสูงสุด และสิ่งที่ควรจะต้องรีบดำเนินการในปัจจุบันคือ การอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการมีส่วนช่วยฟื้นฟูปัญหาปะการัง เช่น การลดผลกระทบจากมนุษย์ การสร้างปะการังเทียม และการสร้างแหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้าง สำหรับเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูปัญหาการเกิดปะการังฟอกขาวนั้น สิ่งที่ทำไปแล้ว คือ เมื่อหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบพบการเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงจะมีการประชุมตัดสินใจก่อนที่จะทำการกำหนดเขตที่แน่นอนในการประกาศปิดพื้นที่ และเมื่อมีการปิดแล้วก็จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบต่อไป สำหรับ ทช.จะได้วางทุ่นในทะเลเพื่อป้องกันพื้นที่แนวปะการังบริเวณที่มีการฟอกขาวเพื่อเป็นการลดการรบกวนต่อแนวปะการังเพิ่มเติม และช่วยให้ปะการังฟื้นฟูตามธรรมชาติได้เร็วขึ้น หากฝ่าฝืนเข้ามาในพื้นที่จะมีโทษทั้งจำและปรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image