สธ.รุกเอาผิดสถานปฏิบัติธรรม’ดีท็อกซ์’ทำคนตาย เล็งคุมศูนย์ล้างพิษทั่วประเทศ

จากกรณีการแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า มีประชาชนที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เสียชีวิตหลังจากการล้างพิษด้วยวิธีกินแต่ผลไม้ ดื่มน้ำมะพร้าวผสมกับน้ำใบย่านาง ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 วัน ที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน กทม.นั้น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าว

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สบส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองกฎหมายและเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เข้าตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าวอยู่ ซึ่งต้องขอเวลาในการตรวจสอบสักระยะ อย่างไรก็ตาม การล้างพิษ หรือดีท็อกซ์ถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก จัดอยู่ในประเภทกิจการสปาเพื่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการกำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2547 เป็นต้นมา

“ขณะนี้ สบส. ได้จัดทำร่างกฎหมาย ‘พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559’ สำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ประมาณเดือนตุลาคม 2559 เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้ง 3 ประเภท ซึ่งไม่ได้เป็นการรักษาโรค ได้แก่ 1.กิจการสปา 2.กิจการนวดเพื่อสุขภาพ 3.กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม รวมถึงกิจการอื่นๆ เพื่อสุขภาพ กิจการทั้งหมดนี้จะต้องขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานมีวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และห้ามมิให้มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณของบริการเพื่อสุขภาพว่าสามารถบำบัด รักษาหรือป้องกันโรคได้ทุกชนิด” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. กล่าวว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วรวมทั้งหมด 1,609 แห่ง ประกอบด้วยสปา 509 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1,070 แห่ง นวดเพื่อเสริมสวย 30 แห่ง  โดยอยู่ในส่วนภูมิภาค 1,265 แห่ง ที่เหลืออีก 344 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วง 6 เดือน ที่รอกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ สำนักสถานพยาบาลฯจะดำเนินการจัดเตรียมตั้งคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งใน และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริการเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 13 คน โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ รวมทั้งหลักเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิผู้ดำเนินการและผู้ให้บริการ นอกจากนี้ จะจัดอบรมชี้แจงผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันทีเมื่อมีผลบังคับใช้

Advertisement

วันเดียวกัน ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดแถลงข่าว “เตือน การดีท็อกซ์ล้างพิษ” โดย นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า จากข่าวดังกล่าว ทราบว่าเป็นการทำดีท็อกซ์มากเกินไป ซึ่งกรณีนี้เข้าใจว่า ไม่ได้เสียชีวิตเพราะรับประทานยาสมุนไพร แต่น่าจะมาจากการขาดสารอาหาร เนื่องจากการติดตามเนื้อหาในเฟซบุ๊กของผู้ที่แชร์ข้อมูลและจากข่าวที่ปรากฏนั้น เห็นว่า ผู้เสียชีวิตไม่ยอมรับประทานอาหารใดๆ ทานแต่น้ำสมุนไพรเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ทำให้ขาดสารอาหาร แร่ธาตุ โดยเฉพาะโพแทสเซียม  (Potassium) มีผลต่อการเต้นของหัวใจ และเกิดภาวะช็อก ร้ายสุดเสียชีวิต ดังนั้น การทำดีท็อกซ์ ควรระมัดระวัง หากทำโดยไม่รู้ย่อมมีความเสี่ยง ยิ่งผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต โรคตับ ยิ่งต้องระวัง อย่างโรคไต และโรคตับ หากดีท็อกซ์จะทำให้ตับ ไตทำงานหนักมากขึ้น และหากป่วยโรคเหล่านี้อยู่แล้ว ยิ่งอาจเกิดอันตรายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image