เมื่อวันที่ 24 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม.เป็นประธาน และมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.และคณะผู้บริหารเข้าร่วม ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง ต่อที่ประชุมสภา กทม.ว่า กรณีได้รับร้องเรียนจากประชาชนผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า กทม.ไม่มีมาตรการเข้มข้นในการจัดการปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครเหมือนอดีต
ร.ท.วารินทร์ กล่าวว่า โดยปกติสภาพของฝุ่นละอองจะเพิ่มมากขึ้นหลังพ้นช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ทำให้เกิดโรคอันตราย เช่น โรคภูมิแพ้ วัณโรค เมื่อฝุ่นละอองปนเปื้อนในน้ำและอาหารยิ่งทำให้เกิดโรคติดต่อตามมา โดยดัชนีวัดคุณภาพอากาศที่เป็นมาตรฐานโลก ประกอบด้วย 1.ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) ขณะที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ PM2.5 ต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ กลับสูงถึง 25 มคก./ลบ.ม. ส่วนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงกำหนดไว้ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.กลับมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 120 มคก./ลบ.ม.โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งกลับสูงถึง 50 มคก./ลบ.ม.จากกำหนดไว้ 25 มคก./ลบ.ม. เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ย PM 10
ร.ท.วารินทร์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อปี 2560 สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้ของบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลภาวะทางฝุ่นและเสียง กลับไม่นำผลรายงานข้อมูลเชิงสถิติไปดำเนินการให้เป็นประโยชน์ เพียงแต่ทำหน้าที่รายงานข้อมูลเท่านั้น เดิมสำนักงานเขตจะเป็นผู้ดำเนินการส่วนเกี่ยวข้อง โดยการจัดทำตารางป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็กในฤดูแล้ง และมีมาตรการป้องกัน ประกอบด้วย 1.การล้างถนนและบริเวณทางเท้า 2.การควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง 3.กำหนดให้รถบรรทุก รถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ต้องมีล้างล้อรถให้สะอาด เพื่อป้องกันการนำฝุ่นหรือดินบนท้องถนน 4.การควบคุมวัสดุก่อสร้างและสิ่งอื่น บนทางเท้า 5.ร่วมกับตำรวจจราจรในการตั้งด่านตรวจรถควันดำไม่ให้เข้าพื้นที่ 5.การป้องกันการเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะบริเวณชานเมือง มักเกิดเหตุไฟไหม้หญ้าเป็นประจำ 6.มาตรการป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า แต่ปีที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือสั่งการไปยังสำนักงานเขตให้ดำเนินการเกี่ยวกับการลดภาวะฝุ่นละออง
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวชี้แจงว่า กทม.ได้มีบันทึกสั่งการเรื่อง การแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานทุกเขตดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2555 โดยทุกเขตมีแนวทางปฎิบัติ 13 ข้อ อาทิ บริเวณก่อสร้างจะต้องจัดทำรั้วทึบสูง 2 ม. ต้องมีการป้องกันหรือวัสดุป้องกันจากฝุ่นละออง บริษัทผู้รับเหมาต้องทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกชั้น ห้ามก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 น. รถเข้าออกระหว่างบริเวณก่อสร้างต้องมีวัสดุปกคลุมมิดชิดและล้างล้อรถยนต์ บริเวณก่อสร้างต้องทำความสะอาดทุกวัน ฯลฯ
“ยอมรับว่าในช่วงหลังเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฎิบัติตามคำสั่งการมากพอ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้กำชับให้ทุกเขตถือปฎิบัติตามคำสั่ง กพ.0907/พ976 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 และให้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร 2522 เข้าระงับ กำชับ เจ้าของโครงการก่อสร้าง หากมีกระทบก่อให้เกิดต่อฝุ่นละออง และมีโทษทั้งจำทั้งปรับ” นายจักกพันธุ์ กล่าวและว่า เมื่อปี 2557 ได้ให้งบประมาณ 395 ล้านบาท ให้สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ติดตั้งจุดตรวจอากาศแบบเสาเหล็ก 46 ชุด และรถตรวจอากาศ 4 คัน หลังสัญญาจ้างสิ้นสุด เมื่อปี 2559 และ ปี 2561 ได้จัดสรรงบประมาณ 24.5 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเหมาและค่าบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเสาเหล็ก ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการหาผู้รับจ้าง
วันเดียวกัน ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ ได้สอบถามคณะผู้บริหาร กทม.ถึงความคืบหน้ากรณีตรวจพบเชื้อแบคทีเรียลีจีโอเนลลาภายในอาคาร 37 ชั้น หรือ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) ต่อที่ประชุมสภา กทม. โดยระบุว่า ข้าราชการ กทม.ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองหลังย้ายไปทำงานภายในอาคารดังกล่าว เช่นเดียวกับ ส.ก.เดิมตั้งใจจะเปิดการประชุมสภา กทม.ประจำปี 2561 ที่ศาลาว่าการ กทม.2 เมื่อลงพื้นที่ตรวจอาคารพบว่ายังมีปัญหาฝุ่นละอองจริง จึงไม่ไปใช้สถานที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ นายจักกพันธุ์ กล่าวชี้แจงว่า อาคารดังกล่าวไม่ได้เปิดใช้งานมานาน จึงมีปัญหา แต่ขณะนี้ผู้รับเหมากำลังปรับปรุงภายในอาคาร จากการตรวจสอบสภาพอากาศ ล่าสุดไม่มีอัตราส่วนของฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลตรวจสภาพอากาศครั้งสุดท้ายจะทราบผลภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ และในอนาคต กทม.จะกำหนดการตรวจอากาศในอาคารเดือนละ 1 ครั้ง
ด้านนายอัครวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ส.ก.กล่าวว่า ยังมีความกังวลเรื่องของเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณลานจอดรถใต้ดิน เพราะเกรงว่าเมื่อเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการติดเชื้อสู่สมอง อาจเสียชีวิตได้ ซึ่งเคยเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วครั้งเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่พบมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยถึงวันละ 1 คน
“ผมจะไม่เดินทางไปตรวจอาคารเด็ดขาด หากไม่มีใบรองรับรองว่าอาคารปลอดเชื้อรา เพราะมีอันตรายมาก ซึ่งที่อาคารธานีนพรัตน์เองก็ยังไม่ได้ผ่านการตรวจเชื้อรา เกรงว่าข้าราชการจะยิ่งวิตกกังวัลมากขึ้น” นายอัครวัฒน์ กล่าว