ทันตแพทย์แนะทางออกทำฟันประกันสังคม ดึงคลินิกร่วม-ใช้ราคากลาง

ขอบคุณภาพจากทันตแพทยสภา

กรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเคลื่อนไหว เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงวิธีการเบิกจ่ายเงินสิทธิทันตกรรม กรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน จากเดิมต้องสำรองจ่ายและนำใบเสร็จไปเบิกกับ สปส.วงเงินไม่เกิน 600 บาทต่อปี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ประกันตน โดยจัดแคมเปญทางเว็บไซต์ www.change.org “ประกันสังคมต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่น” เพื่อนำรายชื่อดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม หวังให้มีการปฏิรูประบบทันตกรรมนั้น

ล่าสุด ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์โรงพยาบาล (รพ.) ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในฐานะประธานเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข กล่าวว่า เคยศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ทำฟันของระบบสุขภาพไทย พบว่า แม้สิทธิทันตกรรมของประกันสังคมจะมีการพัฒนา และพยายามให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการทำฟันมากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าถึงเวลาต้องปรับปรุงกรณีที่ให้ผู้ประกันตนสำรองทั้งกรณีทำฟัน อุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูน ในวงเงิน 600 บาทต่อปี เพราะปัจจุบันลูกจ้างรายวันมีรายได้เพียง 300 บาท แต่ขั้นตอนการเบิกเงินยุ่งยาก ทั้งเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูง

“บอร์ดประกันสังคมควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพิ่มวงเงินทันตกรรมเท่านั้น เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ค่าครองชีพสูงขึ้นก็ต้องมาปรับเปลี่ยนอีก ดังนั้น เรื่องวงเงินควรกำหนดเป็นไปตามภาวะโรค คือ หากต้องอุดฟัน ถอนฟัน หรือขูดหินปูนในคราวเดียวกัน หรือความจำเป็นใดๆ ก็ตาม ควรได้รับสิทธิการรักษาร่วมกันทั้งหมด ส่วนเรื่องการสำรองจ่ายนั้น ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ โดย สปส.ควรมีการกำหนดราคากลางสำหรับสิทธิทันตกรรม และทำข้อตกลงร่วมกับคลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาทันตกรรมอย่างแท้จริง” ทพญ.มาลีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี สปส.ระบุว่าเคยให้ผู้ประกันตนไปรับบริการในสถานพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหารอคิว จนต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นวิธีดังกล่าว ทพญ.มาลีกล่าวว่า เดิม สปส.ให้วงเงินทันตกรรม 500 บาทต่อปี ให้สิทธิเบิก 2 ครั้ง ครั้งละ 250 บาท ขณะนั้น สปส.เล็งเห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มวงเงิน และยังให้รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่เกิดปัญหาเรื่องการรอคิว ซึ่งเหมือนกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่ที่แตกต่างคือ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีคลินิกเอกชนกระจายตัวมาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ใช้วิธีกำหนดราคากลางทำฟัน และลงนามร่วมมือกับคลินิกเอกชนในเครือข่าย หาก สปส.นำตัวอย่างดังกล่าวไปใช้ก็สามารถทำได้ เพราะ สปส.มีข้อดีคือ ให้ผู้ประกันตนรักษาที่คลินิกเอกชนอยู่แล้ว หากเพิ่มเรื่องทันตกรรมและมีราคากลางเป็นตัวกำหนดจะเป็นประโยชน์มาก อาจจะเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ

Advertisement

ด้านนายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงสิทธิกรณีทันตกรรมให้ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ยังกังวลเรื่องการที่สถานพยาบาลเบิกจ่ายซ้ำซ้อน ส่วนการกำหนดราคากลางนั้น ปัจจุบันราคา 600 บาทต่อปี อ้างอิงราคาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากจะทำราคากลางกับสถานพยาบาล สปส.ก็ยินดี แต่อยู่ที่ว่าแต่ละแห่งจะยินยอมหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image