ระวัง! อากาศแปรปรวน “24 – 27 มี.ค.” เสี่ยงป่วยไข้หวัดใหญ่ 3 เดือนกว่า 3 หมืื่นราย

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 24 – 27 มีนาคม 2559 จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ซึ่งในช่วงอากาศแปรปรวนเช่นนี้ อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง กลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยได้ง่ายและอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3.หญิงมีครรภ์ และ 4.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น

นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วย 33,221 ราย จากทั่วประเทศ เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 7 – 9 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 15.1 กลุ่มอายุ 10-14 ปี หรือร้อยละ 12 และ 25-34 ปี หรือร้อยละ 10.6 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนคิดเป็นร้อยละ 38.6 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร พะเยา และ พระนครศรีอยุธยา

“โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอ จามรดกัน อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะเริ่มด้วยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงและหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบากซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง” นพ.อำนวย กล่าว

อธิบดี คร. กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ควรดูแลตนเองด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ กำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดมากับมือ รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้าให้พอเหมาะกับสภาพอากาศ สำหรับผู้ป่วย ขอให้พักผ่อนมากๆ และสวมหน้ากากอนามัย แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หรือหยุดทำงาน และให้อยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ที่สำคัญผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กมักป่วยได้ง่ายและบางครั้งเด็กอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image