เลขาธิการ สปส.รับลูกภาคประชาชน “ปฏิรูปบริการทันตกรรม” ขอศึกษา 3 ด.

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แถลงถึงกรณีที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) นำโดยนายมนัส โกศล เรียกร้องให้ สปส.ปฏิรูประบบบริการทันตกรรม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าทำฟันเสมือนกับการรักษาโรคทั่วไปโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินแล้วนำใบเสร็จไปเบิกเงินกับ สปส. รวมทั้งขอให้ขยายวงเงินค่าทำฟันของผู้ประกันตนให้มากกว่าปีละ 600 บาท ว่า สปส.พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องของคปค.และผู้ประกันตนทั้งหมด แต่ขอนำเรื่องนี้ไปศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าที่จะได้รับ อีกทั้งยังต้องหาเครือข่ายคลินิกเอกชนว่าจะเข้าร่วมกับ สปส.หรือไม่

“ที่สำคัญคือ ต้องหามาตรการควบคุมการดำเนินงานในเรื่องการเบิกเงิน ซึ่งยอมรับว่าไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน และมองว่าหากทำจริงต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการลงทะเบียนข้อมูล เพื่อให้อัพเดทการเข้าบริการทันตกรรมในทุกคลินิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องขอพิจารณาข้อเรียกร้องโดยละเอียดและหารือร่วมกันว่าทำได้หรือไม่อย่างไร หากทำไม่ได้ก็ต้องตอบประชาชนให้ชัดเจนว่า ทำไม่ได้เพราะอะไร รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหาข้อมูลว่าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวว่าติดขัดในข้อกฎหมายหรือเงื่อนไขอะไรหรือไม่ รวมทั้งศึกษาว่า หากทำจริงจะได้ประโยชน์กับผู้ประกันตนมากน้อยแค่ไหน โดยคาดว่าอาจจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 เดือน เพื่อหาข้อสรุป ทั้งนี้อาจนำไปทดลองทำเป็นคลินิกนำร่องก่อนเพื่อพิจารณาว่าการทำลักษณะนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร” นายโกวิท กล่าวและว่า ข้อมูลในปี 2558 มีผู้ประกันตนยื่นเอกสารขอเบิกเงินค่าทันตกรรมจำนวน 1.7 ล้านครั้ง คิดเป็นเงินประมาณ 521 ล้านบาท และมีอัตราเฉลี่ยการเบิกเงินค่าทันตกรรมเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 1 ต่อปี

นอกจากนี้ นายโกวิท ยังแถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมสมาชิกเข้ายื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการปฏิรูป สปส.และกรณีการใช้จ่ายเงินไม่โปร่งใส ว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบ สปส. โดยมุ่งให้กองทุนมีเสถียรภาพ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ซึ่งในปี 2558 สปส.ได้รับจัดสรรงบประมาณเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จำนวน 69 ล้านบาท ใช้จริง 7 ล้านบาท ที่เหลืออีก 61 ล้านบาท ได้ส่งคืนกองทุน โดยยืนยันว่าการเดินทางไปต่างประเทศเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อติดตามความคืบหน้าในการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนกรณีการให้งบฯ สำหรับฝึกอบรมนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานทุกกลุ่มขอรับทุนได้ไม่จำกัดองค์กรที่สังกัดสภาองค์การลูกจ้างเท่านั้น อีกทั้งกำหนดให้การเบิกจ่ายต้องเขียนเอกสารโครงการขอเบิก และมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบการใช้งบฯ อย่างเข้มงวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image