กระแสน้ำอุ่นมาแล้ว อุทยานฯ ปิดเกาะ อ่างทอง สุรินทร์ อาดัง-ราวี ถนอมปะการัง ป้องกันฟอกขาว

ภาพปะการัง บริเวณความลึกที่ 0.5-1.50 เมตร หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่ง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 1 จ.ชุมพร และกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ลงไปสำรวจ เมื่อวันที่ 15-18 มีนาคม ที่ผ่านมา

วันที่ 25 มีนาคม รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุมเรื่องการรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาว โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล โดยในที่ประชุมนั้น ตนได้รายงานที่ประชุมว่า เวลานี้ ประเทศไทยหลายจุด ได้เริ่มมีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแล้วหลายจุด ซึ่งการสังเกตการณ์ฟอกขาวแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เริ่มมีการฟอกขาวแล้ว พบว่า มีที่ หมู่เกาะอ่างทอง และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี อีกส่วนคือ ในพื้นที่ที่ตรวจพบว่ามีอุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียสแล้ว โดยพบว่า ทะเลฝั่งอันดามันเวลานี้มีอุณหภูมิเกิน 31 องศาเซลเซียสหลายจุดมาก

“ผมจึงเสนอในที่ประชุมไปว่ามีบางพื้นที่ บางพื้นที่ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สั่งปิดทันทีจนกว่าสถานการณ์ ปรากฏการณ์เอลนิโญ จะคลี่คลาย หรือน้ำทะเลอุณหภูมิลดลง โดยเกาะที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปิด และสามารถปิดได้ทันทีคือ เกาะอ่างทอง เกาะสุรินทร์เหนือ ที่บริเวณอ่าวไม้งาม และอ่าวไทรเอน เกาะอาดัง ฝั่งตะวันตก และตะวันออก เกาะราวี ด้านฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาะอาดัง และเกาะราวี นั้น เป็นแหล่งปะการังสำคัญ หากปล่อยเอาไว้จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ รับปากแล้ว ว่าจะดำเนินการเร็วที่สุด” รศ.ธรณ์ กล่าว

รศ.ธรณ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นนั้น มลพิษที่เกิดขึ้นทางน้ำ หรือผลกระทบจากการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น การปล่อยน้ำเสีย หรือมีนักท่องเที่ยวไปรบกวนปะการังมากๆจะยิ่งส่งผลให้ปะการังฟอกขาวเร็ว และมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การจัดการปัญหามลพิษในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลเหล่านี้ จึงต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกาะพีพี ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว ปีละ 2 ล้านคน มีปริมาณน้ำเสียเกิดขึ้นในเกาะ วันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตร โดยระบบที่มีอยู่เวลานี้ สามารถบำบัดน้ำเสียได้แค่วันละ 300 ลูกบาศก์เมตร หรือแค่ 16% เท่านั้น ที่เหลือก็ต้องปล่อยทิ้งลงทะเล ทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ กรมควบคุมมลพิษ บอกว่า หากมีการยกระดับ ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เวลานี้ ใช้งบประมาณ ไม่เกิน 450 ล้านบาท จะสามารถบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นในเกาะพีพีได้ทั้ง 100% ทันที

Advertisement

“ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ มิฉะนั้นแล้ว ในอนาคตอันใกล้ทรัพยากรทางทะเลอาจจะต้องหายไปหมด เพราะมลพิษที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ส่วนงบประมาณสำหรับดำเนินการ ยิ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกรมอุทยานฯมีเงินรายได้จากการเก็บจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในอุทยานฯอยู่แล้ว การนำมาใช้ตรงนี้ ถือว่าเหมาะสม และคุ้มค่าอย่างยิ่ง” รศ.ธรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image