เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผงลอยจำหน่ายอาหารที่เข้าร่วมโครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ CFGT รวมทั้งสิ้น 96,742 แผง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 81,792 แผง คิดเป็นร้อยละ 84.55 นับว่าเป็นจำนวนที่สูง แต่จากรายงานข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยา ปี 2558 กลับพบผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำเป็นสื่อที่สูงเช่นกัน คือ โรคอุจจาระร่วง 1,097,751 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1685.61 ต่อแสนประชากร และโรคอาหารเป็นพิษ 129,638 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 199.06 ต่อแสนประชากร
นพ.วชิระกล่าวอีกว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการคุมเข้มด้านสุขลักษณะและข้อกำหนดพื้นฐานของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี โดยส่งเสริมและผลักดันให้ท้องถิ่นมีการนำกฎหมายไปบังคับใช้ในเรื่อง 1.การอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ 2.ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับแผงลอยจำหน่ายอาหาร 12 ข้อ และเกณฑ์การตรวจการปนเปื้อนแบคทีเรียโคลิฟอร์มภาคสนาม 3.ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีต้องมีความรู้ หรือผ่านการอบรมด้านสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรที่กรมอนามัยกำหนด 4.ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อที่ผ่านทางอาหารและน้ำเป็นสื่อ และ 5.ตั้งถูกที่ในเขตหรือบริเวณที่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น เป็นต้น
นพ.วชิระกล่าวว่า ในปี 2558 กรมอนามัยได้ดำเนินการเฝ้าระวังแผงลอยจำหน่ายอาหารในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สมุทรสาคร ขอนแก่น อำนาจเจริญ และระนอง ในแผงลอยจำหน่ายอาหาร 154 แผง ไม่ผ่านเกณฑ์ฯ 100 แผง คิดเป็นร้อยละ 64.94 ซึ่งพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารพร้อมบริโภค ร้อยละ 34.84 ผักสด ร้อยละ 66.49 น้ำดื่ม ร้อยละ 18.44 น้ำแข็ง ร้อยละ 34.43 เครื่องดื่ม ร้อยละ 12.5 มือผู้สัมผัสอาหาร ร้อยละ 31.54 และภาชนะอุปกรณ์ ร้อยละ 15.14 และได้ตรวจสารที่ปนเปื้อน 4 ชนิด ได้แก่ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว โดยพบฟอร์มาลินปนเปื้อนมากที่สุด โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่พบในปลาหมึกสดและปลาหมึกอาร์เจนตินา