ภูกระดึงไฟไหม้เงียบ48ครั้งเสียหายนับพันไร่ อธิบดี ‘ฉุน’ ไม่รายงาน ตั้งกก.สอบกราวรูด

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย โดยเกิดไฟไหม้ในโซนป่าปิดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างครอบคลุมบริเวณผาส่องโลก น้ำตกรัตนา โหล่นฟ้าโลมดิน กินพื้นที่นับพันไร่ รวมทั้งมีรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ที่เจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการทำแนวกันไฟ แต่ถูกไฟป่าลามไหม้ได้รับความเสียหาย 1 คัน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าทางพื้นที่ยังไม่มีการรายงานสถานการณ์ไฟไหม้ป่าภูกระดึงครั้งนี้มาที่กรมอุทยานฯ ส่วนกลาง ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2559 นี้ อุทยานฯภูกระดึงได้รับงบประมาณในการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันไฟป่าอุทยานฯภูกระดึงจำนวน 10 ล้านบาท

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นตนเพิ่งได้รับรายงาน ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าอุทยานฯภูกระดึงจนลามมาไหม้รถแทรกเตอร์ได้รับความเสียหายนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่เพิ่งรายงานตนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกคนดูเหมือนมีเจตนาเหมือนจะปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้น โดยแจ้งมาว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนในระดับพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน คณะกรรมการในระดับพื้นที่อีกชุด โดยจะสอบตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการส่วนที่รับผิดชอบไปจนถึงหัวหน้าอุทยานฯภูกระดึงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร เบื้องต้นเขาชี้แจงมาว่ารถไปติดหล่มและไฟเปลี่ยนทิศทำให้เคลื่อนย้ายไม่ทัน แต่ตนมองถึงเรื่องการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหามากกว่า ว่าพื้นที่มีการเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ให้รอผลสอบจากคณะกรรมการฯ ในพื้นที่ หากชี้แจงได้ไม่ชัดเจนก็จะตั้งคณะกรรมการจากกรมอุทยานฯ เข้าไปตรวจสอบต่อไป นอกจากนั้นเบื้องต้นได้รับรายงานว่าในปีนี้พื้นที่อุทยานฯภูกระดึงเกิดเหตุไฟไหม้ป่ารวมทั้งหมดสะสมมา 1,000 กว่าไร่ แต่ขณะนี้ควบคุมไว้ได้แล้ว ซึ่งยอมรับว่าปีนี้เกิดความเสียหายมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

นายฑิตศักดิ์ สุริยาชัยวัฒนะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ไฟไหม้บนอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจำนวน 48 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5-20 ไร่ ซึ่งทางอุทยานฯก็ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจดับไฟป่าขึ้นมา ทุกครั้งที่มีไฟไหม้ เจ้าหน้าที่เข้าไปดับสนิททุกครั้ง แต่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้ค่อนข้างหนักบนเขา และเป็นป่าหญ้าคา กินเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ทางอุทยานได้ระดมเจ้าหน้าที่ขึ้นไปช่วยดับใช้เวลาเกือบ 1 วัน

“บนเขาไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ช่วงเวลานั้นไม่ได้รายงานใคร จนกระทั่งดับไฟหมด เจ้าหน้าที่ทุกนายลงมาปลอดภัยแล้ว จึงได้รายงานผู้อำนวยการสำนัก” นายฑิตศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุทยานฯ ได้รวบรวมสถิติการเปิดไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่เดือน 1 ตุลาคม 2558-23 มีนาคม 2559 มีการดับไฟป่าแล้วจำนวน 4,130 ครั้ง มีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้กว่า 6.1 หมื่นไร่ โดยมีพื้นที่ป่าเสียหายมากกว่าปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 1.4 หมื่นไร่

//////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image