น้ำใจคนไทยมอบให้คนพิการ ‘ปั่นไปไม่ทิ้งกัน’ สร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน

ในอดีตคนพิการหากอยากมีอาชีพมีรายได้ มีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือไม่เป็น “คนขายลอตเตอรี่” ก็เป็น “คนขอทาน” เพราะสังคมแห่งการทำงานยังไม่เปิดรับ และคนพิการเองก็ยังไม่มีศักยภาพพอ แต่วัฏจักรเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไป ภายหลังการจุดกระแสของโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” จัดโดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งนำคนตาบอดร่วมกับคนตาดีปั่นจักรยานทางไกลกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 867 กิโลเมตร เพื่อระดมเงินสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

พิธีเปิด

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เล่าภายหลังนำขบวนจักรยานปั่นเข้าสู่จุดหมาย ณ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ว่าข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2560 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียน 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 8 แสนคน แยกเป็นผู้พิการมีงานทำ 2 แสนกว่าคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป ซึ่งมีรายได้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนอีกกว่า 5 แสนคนไม่มีงานทำ

“ผมเชื่อมาตลอดว่า คนพิการหากได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และได้รับโอกาสในการทำงานก็สามารถเข้าสู่สังคมแห่งการทำงานได้เหมือนคนทั่วไป ยิ่งหากมีอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ที่มาขจัดอุปสรรคในการเดินทางและใช้ชีวิต คนพิการก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนทั่วไปเช่นกัน อย่างผมที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับโอกาสแล้ว ทำให้ความตาบอดในวันนี้มีความหมายกับชีวิตน้อยมาก”

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

เริ่มสอนอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ

Advertisement

จากความเชื่อสู่การลงมือทำ ศ.วิริยะได้ทดลองก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงต้นปี 2560 ซึ่งในพื้นที่ 3 ไร่ ได้สอนให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการปรับวิธีคิด ปรับตัว และสอนอาชีพ 3 อาชีพที่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถทำได้เองที่บ้าน ลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย และรายได้ดี ได้แก่ การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน ปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ และเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งสอนตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การผลิต บริหารต้นทุนรายรับ-รายจ่าย แปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจริงจังแบบกินนอนที่ศูนย์ฯในเวลา 100 วัน ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันมีผู้ศึกษาจบหลักสูตรไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 260 คน ส่วนรุ่นที่ 3 กำลังศึกษา

ศ.วิริยะกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ติดตามผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 1 ที่ฝึกจบไป ผลปรากฏว่า ร้อยละ 70 พวกเขาสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่ม ส่วนร้อยละ 20 มีความคิดจะทำ แต่ยังไม่ได้เริ่มต้น และร้อยละ 10 ยังไม่คิดและทำอะไร แต่ก็พอใจที่ส่วนใหญ่ได้ผล จึงนำมาสู่จุดเริ่มต้นการขยายศูนย์ฯแห่งที่ 2 ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 33 ไร่ ซึ่งตนตั้งใจจะทำให้เป็นศูนย์ระดับภูมิภาค มีโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน เพิ่มการสอนสาขาท่องเที่ยวและอาหาร มีอาคารที่พักผู้เข้าอบรม ใช้งบประมาณก่อสร้าง 67 ล้านบาท ซึ่งมูลนิธิฯต้องหาเองทั้งหมด จึงเป็นที่มาของโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน ที่ภายใน 9 วันพวกเราสามารถระดมเงินบริจาคได้ถึง 30 ล้านบาท

“แม้การปั่นจักรยานนี้จะยังไม่ได้เงินครบตามเป้าหมาย แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จในสิ่งที่อยากได้ คือการสร้างเจตคติคนพิการอยากลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง ผมยังเชื่อว่าตอนนี้สังคมเริ่มหันมาสนใจคนพิการ สนใจโครงการ เงินก็น่าจะตามมาเองในอนาคต หรือหากเงินเดินทางมาช้า ผมก็มีแผนที่จะปั่นต่อในจังหวัดที่อยากให้เราไปปั่น แต่ก็ขอเวลาพักร่างกายก่อน 3 เดือน หรือหากปั่นอีกรอบแล้วยังหาเงินไม่ได้จริงๆ ก็อาจต้องลดไซซ์โครงการบางส่วนลง” ศ.วิริยะกล่าว

Advertisement
บ่อเลี้ยงจิ๊งหรีด
เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน

ศูนย์ฝึกอาชีพฯ ให้ชีวิตใหม่คนพิการ

ศูนย์ฯไม่เพียงทำให้เกิดผลลัพธ์ของการมีอาชีพและรายได้ ยังทำให้เกิดเครือข่ายคนพิการและผู้ดูแล ที่อยากส่งต่อทักษะความรู้เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กันและกัน อย่าง ลุงแอร์-ทวีศักดิ์ อินทรชัย อายุ 62 ปี ซึ่งเกษียณอายุจากการเป็นลูกจ้างศูนย์การศึกษาพิเศษแล้ว ปัจจุบันต้องดูแลแม่สูงอายุที่พิการจากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ และยังต้องเป็นเสาหลักหารายได้จุนเจือครอบครัว ซึ่งหลังเข้าอบรมรุ่นที่ 1 ก็กลับมาทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดขายเพราะทำง่ายที่สุด จากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ลุงแอร์-ทวีศักดิ์เล่าด้วยรอยยิ้มว่า หลังจากเกษียณมาเมื่อรายได้ไม่ค่อยมี แล้วยังต้องมาเลี้ยงแม่ที่พิการอีก ก็เครียดมาก ซึ่งยิ่งเครียดก็ยิ่งดื่มสุรา จนวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าโครงการรุ่นแรก เข้าไปเขาก็สอนให้ปรับวิธีคิด

สอนอาชีพ ซึ่งหลังจากเรียนจบก็กลับมาทดลองเลี้ยงจิ้งหรีด เริ่มต้นจากการเลี้ยง 2 บ่อโดยมีศูนย์คอยสนับสนุน ทำไปทำมาปรากฏว่าขายดี จึงกู้เงิน ธ.ก.ส.มา 150,000 บาท ขยายเป็นฟาร์มจิ้งหรีดมีทั้งหมด 20 บ่อ ปัจจุบันมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ก็หักต้นทุนเหลือกำไรเดือนละ 15,000 บาท สามารถนำเงินมาใช้จ่ายในบ้านและส่งลูกเรียนปริญญาตรีได้ ขณะเดียวกันก็พยายามแข็งใจเลิกดื่มสุราจนสำเร็จ

“ภูมิใจว่าตอนนี้สามารถทำงานอยู่กับบ้านและมีรายได้ ซึ่งการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ได้ยากอะไร อาศัยลงทุนครั้งแรกครั้งเดียว ที่เหลือก็อาศัยการสังเกตและดูแลเอาใจใส่ ตั้งแต่การฟังเสียงเวลาออกไข่ เคร่งครัดเรื่องความสะอาด ป้องกันแมลงอื่นรบกวน และน้ำ-อาหารไม่ให้ขาด ไม่งั้นจิ้งหรีดจะตาย ซึ่งทั้งหมดสามารถทำคนเดียวได้ ใช้เวลาเพียง 45 วันก็สามารถนำตัวจิ้งหรีดและไข่ไปขายได้ หมุนเวียนขายได้ตลอดทั้งปี และมีคนมารับซื้อถึงบ้านในราคาที่เป็นธรรม”

ลุงแอร์-ทวีศักดิ์ อินทรชัย

โมเดลอาคารที่พักศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเสมือนจริง

“ผมอยากขอบคุณศูนย์ฯที่ทำให้ชีวิตผมมีความหวังอีกครั้ง โอกาสนี้ผมยังได้ส่งมอบความรู้ให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการอื่นๆ มาศึกษาดูงานที่ฟาร์มของผมและกลับไปประกอบอาชีพมีรายได้ ซึ่งจากคนที่ขี้เหล้าเมายา วันนี้ได้ทำตัวเองเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น มีคนเคารพนับถือ ก็รู้สึกภูมิใจมาก” ลุงแอร์-ทวีศักดิ์กล่าวทั้งรอยยิ้ม

แผนผังย่อส่วนเท่าขนาดจริงของโครงการก่อสร้าง
โมเดลอาคารที่พักศูนย์ฯเสมือนจริง

คนพิการปั่นจักรยานทางไกลครั้งแรก

สำหรับโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันฯ เริ่มต้นสตาร์ตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ ศ.วิริยะเคยเรียนและสอนหนังสือ โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาเป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมีนักร้อง นักแสดง คนพิการ ตลอดจนประชาชนอีกมากมายมาร่วมให้กำลังใจ จากนั้นขบวนจักรยานก็เดินทางไปอีก 8 จังหวัด ตั้งแต่สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ ซึ่งตลอดเส้นทางก็มีประชาชน คนพิการมาร่วมยืนตบมือให้กำลังใจริมทาง บางส่วนก็ยินดีร่วมบริจาคเงินสนับสนุน กระทั่งคนขับรถสิบล้อที่กำลังขับผ่านขบวน ก็ขอจอดข้างทางเพื่อยื่นเงินให้ขบวนนักปั่น เป็นภาพที่ประทับใจในน้ำใจของคนไทย เป็นพลังให้นักปั่นฮึดสู้ปั่นจนสุดทาง แม้ระหว่างทางจะเหนื่อยท้อและอาจต้องประสบอุบัติเหตุไปบ้าง

นางบุญช่วย ทาวี อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดลำพูน ซึ่งพิการตาบอดตั้งแต่กำเนิด เล่าทั้งรอยยิ้มที่เส้นชัยว่า การปั่นจักรยานเป็นสิ่งที่คนตาบอดอย่างตนไม่เคยทำมาก่อน ยิ่งมาปั่นทางไกลอย่างนี้เชื่อว่าคนตาบอดส่วนใหญ่คงไม่มีใครเคยทำมาก่อน ทั้งนี้ แม้จะมองไม่เห็น แต่ก็ประทับใจว่าระหว่างทางมีคนมาคอยต้อนรับและให้กำลังใจตลอดเลย โดยรู้จากเสียงที่ได้ยินดีว่า “สู้ๆ นะ” และคำบอกเล่าจากคู่หูที่เป็นคนขับตาดี ที่นอกจากคอยบอกสภาพเส้นทางข้างหน้าแล้ว ยังคอยบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างทางด้วย

“เส้นทางอันยาวไกลนี้ ทำให้ดิฉันได้เจอกับน้องๆ พิการตามภูมิภาค ได้รับรู้ถึงความยากลำบากที่มากกว่าสิ่งที่ตัวเองเจอ ก็เป็นพลังใจให้ตัวเองอย่าท้อถอยกับชีวิต และอยากบอกสังคมว่าอย่าทอดทิ้งคนพิการเลย มาร่วมเปลี่ยนภาระเป็นพลังกันเถอะ” นางบุญช่วยกล่าว

สอดคล้องกับคำพูดของ นายชวการ ศรีชาติ อายุ 50 ปี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คู่หูอาสาสมัครตาดี เล่าว่า ไม่เคยใกล้ชิดกับคนพิการมากมายอย่างนี้มาก่อน ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาก็สามารถทำอะไรได้ เพียงแค่เราไม่กีดกันเขา คอยให้กำลังใจเขา มันก็เหมือนกับการปั่นจักรยานครั้งนี้

ที่เราทั้งคู่ปั่นไปด้วยกัน เวลาไปเจอเนินเขาสูงข้างหน้า ปั่นเพียงลำพังอาจไม่สำเร็จ แต่ต้องสามัคคีกัน ก็จะทำให้ถึงจุดหมายได้ในที่สุด

เชื่อว่าจากนี้คนไทยจะเข้าใจคนพิการมากขึ้น และพร้อมกันช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส

เข้าเส้นชัย

ทำไมต้องมีศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนในเมื่อรัฐก็มีอยู่แล้ว?

เป็นคำถามน่าสนใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่านหนึ่ง ที่ถาม ศ.วิริยะตอนนำโครงการไปนำเสนอว่า “ทำไมต้องก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนอีก ในเมื่อรัฐก็มีศูนย์ฝีมือแรงงานที่คอยฝึกอบรมอาชีพอยู่แล้ว”

ซึ่ง ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า เป้าหมายของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนคือดูแลคนพิการครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูป ขายของ ช่องทางตลาด จะไม่เหมือนศูนย์ฝึกอาชีพของรัฐที่ฝึกอาชีพเสร็จก็จบกัน ไม่ได้ติดตามและต่อยอดต่อ ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการสร้างแบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อมารับซื้อผลิตภัณฑ์ผู้เข้าอบรมในราคาที่เป็นธรรม โดยการรับซื้อก็จะกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อส่งต่อไปขายในห้างสรรพสินค้า อย่างล่าสุดได้รับอนุญาตจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ไปขายในห้างแม็คโครสาขาภาคเหนือ ขณะเดียวกันยังร่วมมือกับสถาบันอาหาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการวิจัยศึกษานำผลิตภัณฑ์คนพิการไปแปรรูปต่อยอดต่างๆ โดยมองโอกาสในอนาคตที่จะนำผลิตภัณฑ์แบรนด์คนพิการนี้สู่ตลาดซื้อขายออนไลน์ รวมถึงส่งขายในตลาดเมืองจีนซึ่งมีความต้องการสูง

นอกจากนี้ จะทำให้ศูนย์เป็นพื้นที่ต้นแบบอารยสถาปัตย์ของประเทศ ที่ทุกตารางนิ้วจะรองรับกับคนทุกคนเข้าถึงได้หมด อาทิ รถวีลแชร์ที่สามารถเข้าถึงทุกซอกมุมของอาคาร กระทั้งขึ้นดาดฟ้าไปดูดาวตอนกลางคืนก็สามารถขึ้นไปได้ ทั้งนี้ ตนยังมีแนวคิดจะทำการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism For All) ซึ่งได้หารือกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว หากทำตรงนี้ได้ก็จะขยายไปสู่พื้นที่ท่องเที่ยวโดยรอบให้เป็นอารยสถาปัตย์ เพื่อทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนทุกคน

ศ.วิริยะกล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีหน้ามูลนิธิก็มีเป้าหมายที่จะเปิดศูนย์คนพิการอาเซียนที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะรองรับคนพิการในภาคกลางให้มีอาชีพมีรายได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image