นักวิชาการร่วมถก เสือตาย 1 ตัว ระบบนิเวศเบี้ยว ชี้ ทางแก้เป็น ‘ปัญหาโลกแตก’ แนะใช้ กม.จริงจัง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 11 ในหัวข้อเรื่อง “สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม : วาระที่รอการแก้ไข” โดยมี ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ, ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ร่วมเสวนา และดำเนินการเสวนาโดย รศ.นสพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์

ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผอ.ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ กล่าวในแง่นิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมว่า ทำไมเสือตาย 1 ตัวถึงสำคัญ นั่นเป็นเพราะ “เสือดำ” อยู่ใน “คีย์สโตนสปีซีส์” ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในจุดสูงสุดของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นหากขาดหายไป อาจทำให้ระบบนิเวศบิดเบี้ยว และส่งผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น เมื่อเสือหายไป สัตว์ที่เคยเป็นอาหารของเสือก็จะเพิ่มปริมาณขึ้น จนอาจไปกระทบภาคเกษตรกรรมของประชาชน เป็นต้น

ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักวิชาการภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จริงๆ ในศตวรรษนี้ไม่น่าจะมีการล่าสัตว์กันแล้ว เนื่องจากเราไม่ต้องล่าเพื่อการดำรงชีวิตเหมือนแต่ก่อน สิ่งที่ผมจะเน้นคือเรื่องของการล่าสัตว์เพื่อนำมารับประทาน ภายใต้ความเชื่อผิดๆ ที่ว่ามีสรรพคุณในการเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นนอแรด หูฉลาม และอื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริงเราได้รับการศึกษาแต่ยังคงมีพฤติกรรมแบบนี้กันอยู่ ต้องแก้ไขตรงนี้ด้วย

รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวในมิติด้านจิตวิทยาและวิเคราะห์พฤติกรรมว่า ทำไมถึงยังมีคนล่าสัตว์อยู่ในปัจจุบันนั้น ในแง่การวิเคราะห์ระดับบุคคล จะพบว่า ไม่มีข้อสรุปในการวิเคราะห์ลักษณะของผู้ที่ชอบล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง แต่จะหยิบยกข้อมูลการศึกษาจากฆาตกรที่ฆ่าคนเพื่อความสนุก จะมีรูปแบบเหตุผลและพฤติกรรมที่ประกอบด้วย 1.กระทำเพื่อความตื่นเต้น 2.หลงตัวเอง ไม่มีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น กล่าวคือ มองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง และ 3. มีจิตผิดปกติ (Phychopath) ซึ่งจะมีลักษณะฉลาด เนี้ยบ เข้าสังคมได้ดี ชอบควบคุมคนอื่น คนในลักษณะแบบนี้น่ากลัวมาก เพราะสังเกตได้ยาก ต้องรอให้เขาแสดงออกมา 4.ไม่มั่นใจในตัวเอง บางคนจึงฆ่าเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกไม่มั่นคง 5.กลัวความตาย พอคิดว่าต้องตายจะทำตัวเป็นเหมือนพระเจ้า สามารถควบคุมความตายของผู้อื่น 6.กลัวความสูญเสีย 7.ชอบควบคุมคนอื่น 8.ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งมีชีวิตอื่น จึงฆ่าโดยไม่รู้สึกอะไร

Advertisement

“ในแง่ของแนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่พูดให้หมดความหวังนะครับ แต่ต้องเข้าใจว่าปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ได้ แต่สามารถลดดีกรีลงได้ โดยในกลุ่มผู้ที่ล่าสัตว์เพื่อค้าขาย การใช้กฎหมายที่จริงจังอาจจะช่วยแก้ได้ ในอีกประเด็นคือในแง่ของความต้องการสะสมชิ้นส่วนของสัตว์ สิ่งนี้สามารถลดความต้องการลงได้ โดยการให้การศึกษาว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของที่สมควรนำมาประดับหรือครอบครองตามความเชื่อต่างๆ ส่วนในการป้องกันการเกิดพฤติกรรมชื่นชอบการล่าสัตว์คือ การเลี้ยงดูในสถาบันครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังมีในบางครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบเทวดา ทำให้เด็กขาดความสามารถในการตัดสินใจ ตรึกตรอง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การกระทำรุนแรงได้” รศ.ดร.สมโภชน์กล่าว

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและธรรมชาติ ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่จากข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าว่า สัตว์ที่มีอยู่กว่า 9 ล้านชนิดสำคัญทุกตัว แต่ในยุคปัจจุบันการล่า การฆ่าสัตว์โดยตรง กลายเป็นการค้าขายที่อยู่ในระดับต้นๆ ของธุรกิจผิดกฎหมาย ฉะนั้นแนวทางในการแก้ไขคือการที่สื่อมวลชนช่วยสื่อสารออกไปให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากนั้นต้องมีการฟื้นฟูทุกอย่างใหม่ โดยทำในความเข้มข้นต่างกันไปในตามพื้นที่ ต้องมีการออกแบบการพัฒนาต่างๆ โดยที่ไม่ต้านธรรมชาติและคำนึงถึงระบบนิเวศด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image