พบทุก 1 ใน 4 คนไทยมีทุกข์หนัก ปัญหาซุบซิบนินทา สาเหตุ “ทำคนฆ่าตัวตาย”

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่อาคารสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวในงานเสวนา “ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหว” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 57 ของโลก อัตราการฆ่าตัวอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร แต่เชื่อว่าน่าจะมีการฆ่าตัวตายมากว่านั้น เพราะ ยังพบว่า มีการปกปิดข้อมูลตรงนี้อยู่ สำหรับประเทศไทยข้อมูลที่เคยมีการสำรวจในกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าทุก 1 ใน 4 คนจะมีโอกาสมีปัญหาทางสุขภาพจิตเกิดขึ้น เนื่องจากครั้งหนึ่งในชีวิตจะมีความทุกข์จนสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิต แต่ที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชจะพบประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด

นางพัชรี คำธิตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการด้านจิตเวช โรงพยาบาลแม่ทา จ.ลำพูน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน มีปัญหาฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สาเหตุส่วนหนึ่งคือ ไม่สามารถทนรับต่อการซุบซิบนินทา การกลัวเสียหน้า เสียภาพลักษณ์ ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรก็ฆ่าตัวตาย ซึ่งมีอัตราสูงอยู่ที่ 34.51 ต่อแสนประชากร หรือปีละ 20 คน อย่าง ใครที่เดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ เมื่อกลับมาจะถูกนินทา ถูกตีตรา ทำให้คนไม่เข้าสู่ระบบบริการ ดังนั้น จึงเลือกที่จะปกปิดไม่ไปรับบริการต่อเมื่ออาการรุนแรง ปลีกตัว เก็บตัว ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ญาติจึงต้องพาตัวส่งโรงพยาบาล แต่หลังกลับจากรักษาตัวกลับมาที่ชุมชนก็ถูกตีตราอีกกลายเป็นปัญหาเรื่อยๆ

“ที่ผ่านมาจึงมีการปรับทัศนคติของชุมชนใหม่ โดยใช้แกนนำชาวบ้านซึ่งนอกเหนือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้วยังมีกลุ่มพระสงฆ์ในพื้นที่มาร่วมให้ข้อมูลความรู้ มีการดึงพระสงฆ์เข้าร่วมในการเทศนา และขอความร่วมมือจากร้านค้าห้ามจำหน่ายสุราในวันพระ และงานศพ ล่าสุดอัตราการฆ่าตัวตายของพื้นที่ อ.แม่ทาดีขึ้น อยู่ที่ 7 ต่อแสนประชากร” นางพัชรี กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เล็งเห็นความสำคัญจึงให้งบประมาณและสนับสนุนพยาบาลวิชาชีพไปศึกษาต่อด้านจิตเวช โดยจะให้ทุนการศึกษาทุกอำเภอ เพื่อนำมาช่วยเหลือชุมชนต่อไป

นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะจากข้อมูล โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จะพบปัญหาสุขภาพจิตแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการคือ 1.อาการไม่คลุกคลีกับใคร ซึมเศร้า ไม่เข้าสังคม ไม่สดใส 2.อาการก้าวร้าว ไฮเปอร์ โดยกลุ่มหลังคนมักจะมองว่าเป็นเด็กเกเร ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ โดยภาวะนี้เมื่อเติบโตไปไม่กี่ปีจะเป็นภาวะซึมเศร้า จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ปัญหาของเด็กเหล่านี้คือ ครูไม่ทราบอาการ จึงเสนอว่าควรจะมีการบรรจุการเรียนรู้เรื่องโรคทางจิตเวช อยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค รู้จักวิธีสังเกตโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตเวชในเด็กเป็นอย่างไร สามารถเข้าสู่การรักษาได้โดยไม่ต้องอายใคร

Advertisement

////////////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image