นักวิชาการชี้’เด็กถีบเพื่อนจมน้ำตาย’ พฤติกรรมอันตราย ควรส่งเข้าสถานพินิจ หวั่นก่อเหตุซ้ำ

สืบเนื่องจากกรณี 2 เด็กหญิงอายุ 11-12 ปีจมน้ำเสียชีวิตในคลองประเวศบุรีรมย์ อ่อนนุช 43 กรุงเทพมหานคร โดยมีพยานแวดล้อมระบุว่าเป็นการกระทำของเด็กชายคนหนึ่งที่ถีบเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตกน้ำ ทั้งใช้เท้าเหยียบมือเด็กผู้หญิงอีกคนที่ลงไปช่วยจนจมเสียชีวิตทั้งคู่ ก่อนจะยืนหัวเราะในการกระทำของตน โดยล่าสุดเด็กชายคนดังกล่าวได้รับการประกันตัว ด้วยอายุไม่ถึงเกณฑ์รับโทษเพราะเป็นเด็กที่อายุเกิน 10 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี จึงต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม ที่เป็นลักษณะการคุ้มครอง ไม่ใช่ลงโทษ พร้อมจะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วยนั้น

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมมากมาย

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่เด็กชายดังกล่าวไม่ได้รับโทษให้เข้าคุก เพราะเรามีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 ที่เด็กกระทำผิดหากอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ใช้วิธีการคุ้มครองแทนการลงโทษ ฉะนั้นประเด็นหลักคือ ต้องมุ่งบำบัดพฤติกรรมอันตรายของเด็กให้หายไป โดยต้องมีกระบวนการบำบัดฟื้นฟูให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม

“พฤติกรรมเด็กคนนี้อันตรายมาก เขาอาจไปก่ออันตรายให้คนอื่นโดยไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ผมคิดว่าเด็กคนนี้ไม่ควรอยู่ในครอบครัว ควรอยู่ในสถานพินิจมากกว่า เพราะจะได้ไม่ไปก่ออันตรายกับคนอื่นอีก”

Advertisement

นายสรรพสิทธิ์ยังมองกรณีศาลให้ประกันตัวเด็กชายดังกล่าวว่า “ไม่ควรเลย เพราะพฤติกรรมร้ายแรงมาก จากการกระทำมันเท่ากับเจตนาฆ่า เพราะเห็นอยู่แล้วว่าเพื่อนว่ายน้ำไม่เป็น แล้วยังไปกระทืบมือเพื่อนอีกคนที่ลงไปช่วยจนเสียชีวิตทั้งคู่อีก”

“นี่เป็นการเล่นสนุกที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ”

นายสรรพสิทธิ์กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนและศาลควรพิจารณาจากข้อเท็จจริง พฤติกรรมเด็กที่กระทำผิดไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรปฏิบัติกับเด็กเหมือนกันทุกกรณี แต่ควรมีเจ้าหน้าที่มาวิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อส่งจิตแพทย์มาวินิจฉัยสภาพทางจิตใจ อะไรที่ทำให้เด็กคนนี้สามารถก่ออันตรายถึงชีวิตโดยไม่มีความรู้สึกเลยได้ อะไรที่กระตุ้นทำให้เด็กมีพฤติกรรมด้านลบมากขนาดนี้ จากนั้นทำเป็นแผนบำบัดฟื้นฟูให้ศาลพิจารณา ขณะที่การปล่อยให้เด็กกลับไปอยู่บ้านโดยไม่ทำอะไรเลย มันไม่มีหลักประกันว่าเขาจะไปก่ออันตรายร้ายแรงอย่างนี้กับคนอื่นๆ ในสังคมอีก แม้ช่วงนี้เขาอาจไม่กล้าทำอะไรอย่างนั้น แต่พอเวลาผ่านไปก็กลับไปทำเหมือนเดิมอีก

Advertisement

เมื่อวิเคราะห์พื้นฐานที่หล่อหลอมเด็กชายดังกล่าว นายสรรพสิทธิ์บอกว่า เขาอาจได้รับการเลี้ยงดูที่พูดง่ายๆ คือ ถูกทิ้งไปเลย มันจึงทำให้เขาไม่พัฒนาด้านนี้เลย ฉะนั้นสังคมแวดล้อมตัวเด็กต้องรับผิดชอบ ขณะที่การแสดงความรับผิดชอบต้องไม่ใช่ประกันตัวแล้วกลับไปอยู่เหมือนเดิมปกติ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของหน่วยงาน

“ปัจจัยที่ทำให้เด็กสมัยนี้ใช้ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตนั้น อย่างแรกต้องไปดูที่สังคมแวดล้อมก่อน วันนี้ผู้ใหญ่ก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เราใช้ความรุนแรงในทุกระดับ อย่างการเมืองที่เล่นกันจนเป็นจนตาย นี่เป็นการถ่ายทอดให้เด็กเห็นโดยที่เราอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ขณะที่การแก้ไขความรุนแรงในเด็กนั้น แนะนำว่าอย่างน้อยที่สุดผู้ปกครองต้องอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก คอยถ่ายทอดบทบาทพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมให้เขา ไม่ใช้พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือทำอะไรที่ไม่คำนึงความเหมาะสม” นายสรรพสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image