กทม.สวนภาคประชาชน จัดแถลง’เจ้าพระยา ฟอร์ ออล’เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ

หลังจากเครือข่ายภาคประชาชน ในนามกลุ่ม Friend of the river (FOR) นำโดย นายยศพล บุญสม แกนนำกลุ่ม FOR ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในช่วงเช้าวันที่ 29 มีนาคม ปรากฏว่าช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) แถลงข่าวประกาศความร่วมมือเดินหน้าสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กิโลเมตร (กม.) และพื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตามแนวคิดเจ้าพระยาเพื่อทุกคน (Chao Phraya for All) ด้วยการฟื้นฟูแม่น้ำพัฒนาภูมิทัศน์และทางเดิน-ปั่นจักรยานบางส่วนเลียบแม่น้ำ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียม

14214114881421412085l

นพ.พีระพงษ์แถลงว่า สจล. และ มข.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเป็นที่ปรึกษางานสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 มีระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน ประกอบด้วยงาน 3 ส่วน 1.ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแม่น้ำเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม. เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกรุงเทพฯ 2.งานสำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด 14 กม. พื้นที่นำร่องก่อสร้าง ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ 3.งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

“เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ จะเริ่มก่อสร้างในระยะ 14 กม. ประมาณต้นปี 2560 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่จะแล้วเสร็จราวปลายปี 2561 ส่วนงบประมาณก่อสร้าง 14,000 ล้านบาท ที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านั้น ยังไม่ใช่งบประมาณจริง เพราะต้องศึกษารูปแบบให้เสร็จสิ้นก่อนจึงจะทราบว่าต้องใช้งบก่อสร้างเท่าใด ขณะที่ระยะเวลาการศึกษา 7 เดือน นั้น เป็นระยะเวลาที่ศึกษาอย่างบูรณาการทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ซึ่ง สจล.ยืนยันว่าสามารถศึกษาได้ภายในกรอบระยะเวลาดังกล่าว” นพ.พีระพงษ์กล่าว

Advertisement

ด้าน ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. แถลงว่า สจล.และ มข.มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมชลศาสตร์ การมีส่วนร่วมของประชาชนสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ผสานการใช้เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ เช่น การใช้โดรนในการถ่ายภาพทางอากาศ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมาช่วยในการออกแบบ ทำให้สถาปนิกและวิศวกรสามารถวิเคราะห์ข้อมูลกับรูปแบบที่เหมาะสมในทุกขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะฟื้นฟูดูแลแม่น้ำให้กลับมามีสุขภาพดี และทำให้คนไทยหันมารักผูกพันกับแม่น้ำอีกครั้ง ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นการผสานคุณค่าของแม่น้ำเชื่อมโยงอดีตและอนาคตมอบเป็นมรดกแก่คนรุ่นใหม่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามในประเด็นที่สงสัย ปรากฏว่ามีกลุ่มภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการดังกล่าวได้ร่วมตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง อาทิ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก กล่าวว่า ใช้เวลาศึกษาเพียง 7 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากหากเทียบกับโครงการใหญ่และมีความสำคัญ และที่ระบุว่าเป็นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่อย่างเท่าเทียมนั้น อยากทราบว่าพื้นที่ส่วนราชการริมแม่น้ำจะมีการพัฒนาร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ริมน้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของราชการ

ขณะที่ นายรณฤทธิ์ ธนโกเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชุมชน กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างทำการสำรวจและศึกษา ซึ่งมีทั้งพื้นที่เอกชนและภาครัฐ ดังนั้น การออกแบบและพัฒนาต้องทำร่วมกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image