41ปท.ทั่วโลก รับรองแนวทางลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบ’หลักการกรุงเทพฯ’

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) และองค์การอนามัยโลก จัดประชุมผู้แทนรัฐบาลจาก 41 ประเทศ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ผู้แทนภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงาน ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ปี 2558-2573 โดยที่ประชุมมีมติรับรอง “หลักการกรุงเทพฯ” สำหรับดำเนินการด้านการสาธารณสุขตามกรอบการทำงานเซนได ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพื่อบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และสภาพเศรษฐกิจสังคม เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า สำหรับหลักการกรุงเทพฯ ตามกรอบเซนไดนั้น กำหนด 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการบูรณาการด้านสาธารณสุขในแผนงานและนโยบายการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการรวมแผนงานการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินไว้ในยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น 2.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านสาธารณสุข การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ.2005 และการสร้างระบบบริการสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพในทุกรูปแบบ 3.กระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสถานบริการสาธารณสุข 4.บูรณาการประเด็นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในการศึกษาและฝึกอบรมด้านสาธารณสุขและเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรสาธารณสุขในการดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 5.รวบรวมข้อมูลอัตราการป่วย การตาย และทุพพลภาพจากภัยพิบัติ ในระบบการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับทุกประเภทภัย ตัวชี้วัดสำคัญด้านสาธารณสุข และการประเมินความเสี่ยงระดับประเทศ 6.สนับสนุนการประสานความร่วมมือข้ามพรมแดนและข้ามสาขา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับทุกประเภทภัย รวมถึงภัยด้านชีวภาพ และ 7.ส่งเสริมการเชื่อมโยงและการพัฒนานโยบายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และยุทธศาสตร์กรอบกฎหมาย ระเบียบ และการจัดการด้านสถาบัน

“ในส่วนของประเทศไทย ได้มอบให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินรับผิดชอบหลัก โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดทำแผนการดำเนินงานของประเทศไทย โดยกำหนดภารกิจ 4 ด้าน คือ การจัดการด้านความรู้ การเสริมสร้างศักยภาพ การบริหารจัดการ โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงทุน และการจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน” นพ.ปิยะสกลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image