เอกชนแนะยุทธศาสตร์ประเทศ ควรมีแผนผลิตกำลัง ‘แรงงาน’ รองรับเศรษฐกิจอีก10ปี

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม กระทรวงแรงงานจัดงานเสวนาเรื่อง ความท้าทายใหม่ของแรงงานไทยในทศวรรษหน้า ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ทั้งนี้ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อนำไปประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในปี 2560-2564 เพื่อพัฒนากำลังแรงงานให้มีความสามารถมากขึ้นและแข่งขันกับนานาชาติได้ เพราะไทยต้องการให้ประเทศหลุดจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยหวังให้แรงงานไทยมีคุณภาพ มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นในอีก 10 ปี จะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาประเทศและกำลังแรงงานของไทย เพราะปัจจุบันไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

น.ส.เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจกำลังแรงงานในปัจจุบัน พบว่าอยู่ในภาคบริการ ร้อยละ 45 ภาคเกษตร ร้อยละ 40 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 15 ซึ่งต่างจากในอดีตที่ภาคเกษตรมีแรงงานเกินกว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม แรงงานด้านบริการยังได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะฝีมือน้อย รวมถึงได้รับการส่งเสริมจากนายจ้างไม่มากเท่าที่ควร อัตราค่าจ้างต่ำกว่าศักยภาพ มีรายได้ปานกลางจนถึงต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หากจะให้แรงงานไทยเลี้ยงดูตัวเองได้ควรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาทต่อคน โดยต้องมีทักษะฝีมือและผลิตภาพสูงขึ้นสอดคล้องกับค่าจ้าง แต่หากจะให้สามารถดูแลครอบครัวได้ต้องมีรายได้มากกว่านี้

“จากผลวิจัยพบว่า แรงงานไทยขาดทักษะทางวิชาการและพื้นฐานที่บริษัทต้องการ โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษ ไอที ความสามารถในการคำนวณและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งในกลุ่มผู้ที่เพิ่งจบการศึกษายังขาดทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานด้วย” น.ส.เสาวนี กล่าวและว่า มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงแรงงานปรับโครงสร้างการผลิต โดยเพิ่มการลงทุนในโครงการวิจัยร่วมระหว่างบุคลากรวิจัยภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อค้นคว้าหรือพัฒนาให้เกิดสินค้าที่ผลิตด้วยนวัตกรรม รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของกำลังแรงงานด้วยการอบรม สร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้กับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และปฏิรูปสถาบันด้านแรงงาน กำหนดค่าจ้างให้เป็นไปตามศักยภาพของแรงงาน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาผลิตภาพการผลิต ด้วยการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรมลูกจ้าง

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากเกินกว่าศักยภาพของแรงงาน แต่ต้องมีสวัสดิการสังคมและส่งเสริมการออมเงิน เพื่อให้แรงงานไทยที่เกษียณสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image