เจ็บฉุกเฉินดับจุดเกิดเหตุเกินครึ่ง ช่วยได้ต้องรีบ อย่ารีรอ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “เคลื่อนวงล้อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า ปัจจุบันการแพทย์ฉุกเฉินมีบทบาทมากขึ้น จึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้หลักการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) อยากให้ทุกคนเรียนรู้เรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ถูกต้องเพราะกว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 8 นาทีนั้น หากรู้วิธีในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับผู้ป่วยก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปถึงก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้

ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ปฎิรูปคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยทำดีมีแต่ได้” ว่า ในช่วงทุกเทศกาลที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนที่ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินร้อยละ 50-60 จะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ โดยในปี 2556 มีประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 60 และเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินมากถึงร้อยละ 26 ซึ่งจากสถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ประจำห้องฉุกเฉินในแต่ละโรงพยาบาลนั้นยังมีน้อย และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้บาดเจ็บ ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะต้องลงมาดูให้พัฒนาได้ทั้งระบบ

ศ.นพ.สันต์ กล่าวอีกว่า มีข้อเสนอในการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยดังนี้ 1.การปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยจะต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฐิที่เห็นว่าผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตหรือพิการถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ดังนั้นจะต้องไม่รีรอ 2.การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นการช่วยเหลือ ช่วยให้รอดจากความตาย ความพิการ ความทุกข์ทรมานให้มากที่สุดไม่ใช่การบริการ ซึ่งผู้ช่วยเหลือจะต้องมีจิตอาสา เพราะการทำงานส่วนใหญ่นั้นเป็นการปิดทองหลังพระ 3. การเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและปรับเปลี่ยนการรักษาให้ได้อย่างทันท่วงที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image