ก.แรงงานร่วมองค์กรออกกฎหมายลูกรับ’พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล’ มีผล 5 เมษายน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานพิจารณาเร่งรัดติดตามร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 34 ฉบับ เพื่อรองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใน 180 วัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายนนี้ว่า เป็นการประชุมนัดสุดท้ายเพื่อสรุปกฎหมายลำดับรองของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการจัดหางาน (กกจ.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมเจ้าท่า กรมการกงสุล กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทุกหน่วยงานได้เสนอร่างกฎหมายรองรับ พ.ร.บ.ดังกล่าว และที่ประชุมได้เห็นชอบแล้ว เช่น กฎหมายลำดับรองของ กสร. ที่กำหนดเกณฑ์การเลือกตั้งคณะกรรมการแรงงานทางทะเล (บอร์ด) สามฝ่ายประกอบด้วยรัฐ ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง ที่จะทำหน้าที่ภายหลัง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเลมีผลบังคับใช้ โดยมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน, กฎหมายลำดับรองของ กพร.กำหนดมาตรฐานคนประจำเรือ เช่น คนครัว เป็นต้น, กฎหมายลำดับรองของกรมการกงสุล ดูแลควบคุมกรณีที่ลูกเรือตกค้างอยู่ต่างประเทศ, กฎหมายลำดับรองของสธ. ที่กำหนดมาตรฐานน้ำดื่มและยา เวชภัณฑ์ต่างๆ บนเรือเป็นต้น

พล.อ.ศิริชัยกล่าวอีกว่า ส่วนการลงนามประกาศใช้กฎหมายต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยคาดว่าทุกหน่วยงานจะสามารถลงนามเพื่อประกาศใช้ทัน พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ หลังจากในวันที่ 5 เมษายนนี้ กรมเจ้าท่าจะเป็นเจ้าภาพตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อน เพื่อรองรับการเข้า-ออก ของเรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image