หมอกควันเชียงรายวิกฤตชนเผ่าเพื่อนบ้านยังนิยมเผา เตรียมของบเผื่อ พม่า กัมพูชา ตั้งสถานีตรวจอากาศ

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช รองปลัด ทส. พร้อมด้วยนายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ และการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนปี 2559

น.ส.อาระยากล่าวว่า ทส. ได้ทำตามกรอบแผนงานโดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ (ศอ.ปกป.) เป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด โดยนำบทเรียนจากปีก่อนๆ มาปรับเปลี่ยน เช่น จากเดิมมีการกำหนดช่วงเวลาในการชิงเผา แต่ในปี 2559 ส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้กำหนดช่วงการเผาเอง โดยปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและพื้นที่เกษตรกรรมแต่ละชนิด แต่มีข้อตกลงว่าจะต้องไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น หากผู้นำท้องถิ่น เข้มแข็งจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันได้มาก เช่น ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่วางแผนประชารัฐด้วยการคัดเลือกสมาชิกแต่ละหมู่บ้านจำนวน 25 คน เพื่อช่วยในการดับไฟป่า ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบที่ช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี

นายวิจารย์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน ยังเป็นพื้นที่วิกฤต พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน มีค่าเกินมาตรฐานสูงสุด 301 และ 264 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร (มก./ลบ.ม.) ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 120 (มก./ลบ.ม.) โดยในวันที่ 31 มีนาคม ที่เชียงราย ค่าอยู่ที่ 182 (มก./ลบ.ม.) ทั้งนี้เป็นผลกระทบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนนั้นประเทศไทยได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการอาเซียนเพื่อชี้แจงให้เมียนมาร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องจากเมียนมาเพิ่งเปิดประเทศ จึงทำให้การดำเนินงานบางอย่างยังล่าช้า อีกทั้งชาวบ้าน หรือชนเผ่ายังมีวิถีชีวิตแบบเดิมที่นิยมการเผา อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ทุกประเทศจะร่วมมือกันแก้ปัญหา ที่ผ่านมา คพ.ได้ส่งมอบ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบกึ่งถาวรให้แก่ สปป.ลาว ไปแล้ว และเตรียมของบประมาณในปี 2560 ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เมียนมาและกัมพูชา เพื่อให้ 2 ประเทศรับรู้ข้อมูลคุณภาพอากาศภายในประเทศ และสามารถนำไปวางแผนบริหารจัดการในพื้นที่ได้ แต่ในปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศนี้ยังไม่มีสถานีตรวจวัดอากาศเลย ซึ่งตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน เป็นข้อตกลงที่ 10 ประเทศอาเซียนให้สัตยาบันที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันที่เกิดขึ้นในประเทศภาคีสมาชิก

เมื่อถามว่า สำหรับงบประมาณ 93 ล้านบาท ที่ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าแค่ไหน นายวิจารย์กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวยังไม่ได้ใช้ทั้งหมด ซึ่งบางจังหวัดก็ใช้งบประมาณของพื้นที่มาแก้ไขเอง ส่วนงบประมาณที่ดำเนินการไปแล้วนั้นหากเทียบกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่ามีประสิทธิภาพ เพราะสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปี 2558 เป็นอย่างมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image