กทม.ขอโทษ เหตุติดตั้ง ‘ลิฟท์คนพิการ’ บนบีทีเอสล่าช้า เร่งเสร็จทุกสถานี ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.)นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวชี้แจงกรณีการก่อสร้างลิฟท์โดยสารผู้พิการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคม ซึ่งพิพากษาให้กทม.จัดทำลิฟท์สำหรับคนพิการที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานี พร้อมทั้งจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา คือภายในในที่ 21 มกราคม 2559

นายอมร กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กทม.ดำเนินการก่อสร้างลิฟท์ผู้พิการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยขณะนี้ครบระยะเวลาในคำสั่งศาลปกครองที่ให้กทม.ดำเนินการติดตั้งลิฟท์ผู้พิการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน23สถานี แต่กทม.ยังไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้น ซึ่งกทม.ต้องขอโทษประชาชนที่ดำเนินการล่าช้า โดยขอยืนยันว่าการก่อสร้างลิฟท์ผู้พิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นสิ่งที่กทม.พยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีคำสั่งของศาลปกครองอีกด้วย แต่เหตุที่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากติดปัญหาใหญ่คือการขอใช้พื้นที่หน้าอาคาร บ้านเรือนของประชาชนในการติดตั้งลิฟท์ ซึ่งบางส่วนเกรงว่าลิฟท์จะบดบังภูมิทัศน์ จึงทำให้กทม.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่แก่เอกชนผู้รับจ้างก่อสร้างได้ แต่ขณะนี้ กทม.สามารถเจราจรขอใช้พื้นที่ได้ในทุกๆสถานีเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จสิ้นในเดือนกันยานนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามกรณีที่กทม.ดำเนินการก่อสร้างลิฟท์ล่าช้า ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองที่ให้กทม.สร้างเสร็จสิ้นในระยะเวลา 1ปีนั้น กทม.ต้องทำหนังสือเพื่อชี้แจงถึงเหตุของการล่าช้าที่เกิดขึ้นต่อไป

บีทีเอส

นายอมร กล่าวว่า ขอยืนยันว่ากทม.เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน โดยผู้ว่าฯกทม.ต้องการให้คนพิการสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกมากที่สุด ซึ่งนอกจากลิฟท์คนพิการแล้ว กทม.ยังมีโครงการส่งเสริมการเดินทางด้วยแท็กซี่ผู้พิการ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีรถแท็กซี่คนพิการให้บริการทั้งสิ้น 30คัน ซึ่งกทม.ต้องใช้ค่าบริหารจัดการรถแท็กซี่คนพิการปีละกว่า 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตามขณะนี้กทม.ได้ร่วมดำเนินการกิจกรรมเพื่อสังคมกับภาคเอกชน ซึ่งช่วยในการสนับสนุนงบประมาณ รวมปีละประมาณ 10 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุง ทำให้ กทม.สามารถให้บริการรถแท็กซี่คนพิการโดยไม่เก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้งานต่อไปได้เป็นระยะเวลาอีก 5ปี ตั้งแต่ปี 2559-2564 แต่หากประชาชนผู้ใดสนใจสนับสนุนโครงการ กทม.ก็พร้อมในการรับบริจาคเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

Advertisement

นายอมร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนการให้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานวันละกว่า 24,000คน กทม.ได้ดำเนินนโยบายจัดเก็บค่าโดยสารตลอดระยะทางเป็นราคา 5บาทนั้น และจะสิ้นสุดนโยบายการจัดเก็บในอัตราดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือประชาชนในวันที่ 31 มกราคมนี้ ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าฯกทม.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายต่อไปหรือไม่ หรือจะดำเนินเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางในอัตราปกติคือ13-19บาท ซึ่งด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากมีการเก็บค่าโดยสารมากยิ่งขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ดังนั้นผู้ว่าฯกทม.จะพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กทม.ได้ดำเนินการแจกแผ่นพับเพื่อขอโทษและชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงความล่าช้าของการดำเนินงาน ณ บริเวณสถานีรถไฟฟ้า 4 แห่ง ได้แก่ สถานีพร้อมพงษ์ สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีทองหล่อ และสถานีเอกมัย เวลา 08.00-09.30 น. และเวลา 16.00-17.30 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image