ที่มา | หน้า 2 มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
หมายเหตุ – เป็นบทความของ “รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์” นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอมุมมองตลอดช่วง 30 ปีของแรงงานไทย สะท้อนภาพเปรียบเทียบระหว่างแรงงานชายและแรงงานหญิงในด้านรายได้ ยังคงมีความเหลื่อมล้ำแม้ระดับการศึกษาและศักยภาพจะไม่แตกต่างกัน
ผู้ชายเกิดมากกว่าแต่อายุสั้นกว่าหญิง
ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในด้านการมีงานทำ การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรายได้ของเพศหญิงและชาย
การเปลี่ยนแปลงของแรงงานเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรไทย โดยประชากรไทยเพิ่มจาก 53.7 ล้านคนในปี 2530 เป็น 67.7 ล้านคน ในปี 2560 และคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้จำนวนประชากรไทยจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งคาดได้เช่นกันว่าจำนวนแรงงานไทยจะลดลงด้วย ผู้ชายเกิดมากกว่า แต่อายุสั้นกว่าหญิง
จำนวนเด็กเกิดใหม่มักมีเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่อัตราการตายของเด็กชายสูงกว่าหญิง โดยที่ในปี 2530 ไทยมีประชากรชายอายุต่ำกว่า 15 ปี มากกว่าหญิงเกือบสามแสนคน แต่พอถึงปี 2560 พบว่าผู้ชายจำนวนมากตายเร็วกว่าผู้หญิง ทำให้ประชากรวัย 30-49 ปี ในปี 2560 เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 แสนกว่าคน
ความแตกต่างของจำนวนประชากรชายหญิงเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุที่สูงขึ้น ปัจจุบันประชากรวัย 50-59 ปี มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเกือบ 5 แสนคน และเมื่อถึงวัยเกษียณอายุ มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณหนึ่งล้านคน
ผู้ชายทำงานนอกบ้านมากกว่าผู้หญิง
อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของเพศชายสูงกว่าเพศหญิงในทุกกลุ่มอายุ ความหมายคือ ชายทำงานนอกบ้านที่มีรายได้เป็นตัวเงินมากกว่าหญิง ความแตกต่างนี้มีสูงขึ้นสำหรับประชากรวัยต่ำกว่า 24 ปี ประชากรวัย 15-19 ปี ที่เป็นเพศชายมีอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานร้อยละ 62 และหญิงร้อยละ 61 ในปี 2530-2539 แต่ถึงปี 2559 ชายวัย 15-19 ปี มีเพียงร้อยละ 26 เข้าสู่ตลาดแรงงาน และหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13 ซึ่งช่วงอายุ 18-19 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มต้นชีวิตเรียนระดับมหาวิทยาลัย
ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ประชากรหญิงอายุ 20-24 ปี เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานร้อยละ 79 กลับลดลงเหลือร้อยละ 24 และชายวัย 20-24 ปี เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานร้อยละ 90 ลดลงเหลือร้อยละ 74 ผู้หญิงมีสัดส่วนการใช้ชีวิตในการหารายได้นอกบ้านน้อยกว่าชายมาก เหตุผลหลักของการลดลงของการเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน คือการอยู่ในระบบการเรียนการศึกษาที่ยาวนานขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี แม้หญิงจะทำงานนอกบ้านน้อยกว่าชาย แต่จำนวนและสัดส่วนหญิงที่ทำงานในบ้านนั้น มากกว่าชายตลอดช่วง 3 ทศวรรษ
การทำงานบ้านถูกตีตราในสังคมไทยว่าต้องเป็นผู้หญิงทำ สัดส่วนของชายที่ไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพราะทำงานในบ้านมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนประชากรหญิงร้อยละ 8 ทำงานประจำในบ้านในช่วง 2530-2539 กลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 ในปี 2560 หญิงวัย 15-29 ปีมีสัดส่วนการเพิ่มของการทำงานดูแลบ้านและครอบครัวมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ
ข้อสังเกต อีกประการหนึ่งของการทำงานในตลาดแรงงานไทย คือ แรงงานไทยรุ่นใหม่เริ่มต้นชีวิตการทำงานช้าลง ในขณะเดียวกันแรงงานรุ่นเก่า หยุดทำงานในวัยที่อายุไม่สูงมากนัก นั่นคือตลอดช่วงอายุขัย แรงงานไทยมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง
ในปี 2559 ประมาณร้อยละ 50 ของชายในวัย 60 ขึ้นไปยังคงทำงานนอกบ้านทั้งที่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว (ตอนที่คนกลุ่มนี้อายุ 30-49 ปี ในช่วงปี 2530-2539) ประมาณร้อยละ 98 ของชายกลุ่มนี้เคยทำงานมาก่อน และร้อยละ 28 ของหญิงวัย 60 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ยังคงทำงาน ทั้งที่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว (ตอนที่อายุ 30-49 ปี) ประมาณร้อยละ 85 ของหญิงกลุ่มนี้เคยทำงานมาก่อน
ทั้งๆ ที่คนไทยอายุยืนขึ้นเรื่อย รูปแบบการเกษียณอายุจากการทำงานแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยในสามทศวรรษที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ปี 2530 ถึง 2559 อัตราการอยู่ในกำลังแรงงานของคนไทยวัย 60 ปีขึ้นไปยังคงต่ำ ไม่ถึงร้อยละ 50 สำหรับชาย และไม่ถึงร้อยละ 30 สำหรับหญิง เป็นที่น่าคิดว่าหากคนไทยอีกไม่นานจะมีอายุคาดเฉลี่ยถึง 90 ปี เราจะยังคงเกษียณอายุเร็วเช่นนี้อีกหรือ
ประชากรไทยวัยหนุ่มสาวที่อายุ 15-29 ปี จำนวน 8 แสนคน ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน ไม่เรียนหนังสือ และไม่ทำงานที่บ้าน ทำไมคนวัยหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่ทำอะไร ไม่มีใครทราบ
แรงงานหญิงมีการศึกษาสูงกว่าชาย
ชายที่ทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้นั้นมีมากกว่าหญิง แต่หญิงที่ทำงานนอกบ้านโดยเฉลี่ยนั้นมีการศึกษาสูงกว่าชาย ในปี 2560 กำลังแรงงานชายที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีจำนวนมากกว่าหญิง กว่า 4 ล้านคน แต่กำลังแรงงานที่จบปริญญาตรีขึ้นไปเป็นหญิงมากกว่าชาย 9 แสนคน
ประเทศไทยมีกำลังแรงงานในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มทีละสองเท่าตัวในแต่ละทศวรรษจากเฉลี่ย 1.1 ล้านคน ในช่วงปี 2530-2539 เป็นกว่า 6 ล้านคนในปี 2560 ในอนาคตจะมีจำนวนกำลังแรงงานหญิงมีการศึกษาสูงมากกว่าชายยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากปี 2560 มีผู้หญิงกำลังเรียนระดับมัธยม อาชีวศึกษา และปริญญาตรีขึ้นไป มากกว่าผู้ชายเกือบ 3 แสนคน
หญิงว่างงานมากกว่าชาย
การเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานที่มีการศึกษาสูงได้ทำให้โอกาสในการหางานทำยากขึ้นด้วย โดยปกติมักเข้าใจกันว่าอัตราการว่างงานของไทยค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าดูอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาของชายและหญิงแล้ว จะพบว่ากำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด ประมาณร้อยละ 2.1 ในปี 2530-2539 เป็นร้อยละ 2.0 ในปี 2550-2559 สำหรับชาย และจากร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 2.2 สำหรับหญิงในช่วงเวลาเดียวกัน
ตลาดแรงงานของไทยมีความต้องการแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก ทำให้อัตราการว่างงานของแรงงานที่มีการศึกษามัธยมหรือต่ำกว่าค่อนข้างต่ำ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นป้ายประกาศรับคนทำงานที่มีการศึกษาน้อยนี้มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
อัตราการว่างงานของกำลังแรงงานวัย 15-29 ปี สูงกว่ากำลังแรงงานวัยอื่นๆ หญิงในวัย 15-29 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 4.6 ในปี 2560 และชายวัยเดียวกันมีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.7 ตลาดแรงงานไทยมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับแรงงานหญิง มองว่าการตั้งครรภ์ของแรงงานเพิ่มต้นทุนให้แก่สถานประกอบการ
ในปัจจุบันยังพบว่าในใบสมัครงานของบางบริษัทมีคำถามแก่ผู้สมัครงานหญิงว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายนั้นหญิงสามารถลาคลอดได้เป็นเวลา 3 เดือน โดยที่นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้ด้วย
ถ้าสังคมไทยยังเห็นความสำคัญของการเพิ่มประชากร สมควรที่จะมีนโยบายสนับสนุนแรงงานหญิงที่ทำงานนอกบ้านให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้โอกาสในการทำงานครึ่งเวลาระหว่างการเลี้ยงดูบุตรในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด หรือเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินแก่หญิงที่มีรายได้สูง เช่น การหักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับหญิงที่มีบุตรให้เท่าๆ กับการหักค่าลดหย่อนในการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ชายได้รับค่าจ้างสูงกว่าหญิง
แม้ว่าผู้หญิงจะมีโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงและได้ทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่ค่าจ้างของหญิงมักต่ำกว่าชายตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิจัยมากมายช่วยยืนยันอีกว่า แม้ว่าหญิงจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม หญิงโดยเฉลี่ยก็ยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย
คำถามที่จะต้องค้นหาต่อ คือหญิงมีคุณสมบัติในการทำงานด้อยกว่าชายหรือ ?
หญิงทำงานคนละตลาดแรงงานกับชายหรือ ?
หรือมันคือการกดค่าจ้าง เพราะว่าเป็นหญิง ?
ช่องว่างระหว่างค่าจ้างหญิงชายเทียบเป็นสัดส่วนกับค่าจ้างของหญิงไม่ได้ขึ้นกับระดับการศึกษา กล่าวคือไม่ว่าจะระดับการศึกษาใดๆ ลูกจ้างเอกชนชายมีค่าจ้างสูงกว่าหญิงร้อยละ 22-57 ในปี 2530-2539 ร้อยละ 12-50 ในปี 2540-2549 และร้อยละ 11-32 ในปี 2550-2559 สถานการณ์ดีขึ้นสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ แต่กลับแย่ลงสำหรับแรงงานที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ถ้าพูดเป็นมูลค่าของความแตกต่างในปี 2560 แล้ว กล่าวได้ว่าหญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเสียเปรียบชายในระดับการศึกษาเดียวกันเดือนละ 5,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของค่าจ้างของหญิง
ทั้งที่การจ้างงานในระดับการศึกษาที่สูงนั้น ไม่ได้ต้องการกำลังแรงกายที่มักเป็นข้ออ้างในความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของแรงงานชาย ในขณะที่งานที่ต้องใช้กำลังแรงกายมากกว่ากลับมีความแตกต่างของค่าจ้างลดลง สัดส่วนความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงานหญิงชายที่มีการศึกษาประถมหรือต่ำกว่าลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในสามทศวรรษที่ผ่านมา
โดยสรุปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรหญิงมีมากกว่าชายเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงอายุที่สูงมากขึ้น หญิงทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้น้อยกว่าชาย หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีการศึกษาสูงกว่าชาย หรือแม้ว่าหญิงจะมีการศึกษาระดับเดียวกันกับชายก็ตาม หญิงมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการว่างงานสูงกว่าชายอย่างชัดเจน ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้ามาก