เปิดผลสำรวจ ทำฟัน “ผู้ประกันตน” สิทธิ (ยาก) เข้าถึงของคนทำงาน

ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งIHPP นำมาวิเคราะห์

ข้อเรียกร้องทันตกรรมผู้ประกันตน กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา…

โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ตามเว็บเพจต่างๆ เดิมทีก็มีกระทู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทำฟันสิทธิประกันสังคม แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกันตนวัยทำงานหลายคนเริ่มมีเสียงสะท้อน แต่ช่วงที่ผ่านมาอาจไม่มีช่องทางในการร้องทุกข์ หรืออาจเพราะว่า คนกลุ่มนี้ต้องทำงานเช้ายันค่ำ การจะออกมาเรียกร้อง หรือร้องทุกข์ใด แน่นอนว่า ต้องลางาน และมีผลต่อรายได้

จึงไม่แปลกเมื่อเกิดกระแสข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) รวมไปถึงกลุ่มคนทำงานต่างๆ ออกมาเรียกร้องขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงระบบทันตกรรมเสียใหม่ให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า สปส. จะทำตามข้อเรียกร้องได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น 1.การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการบริการตามความจำเป็น โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 2.ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก บนและล่างได้ตามความจำเป็นโดยไม่ต้องสำรองจ่าย และ 3.เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี ซึ่งสิทธิอื่นทำได้หมด สรุปข้อเรียกร้อง คือ ไม่มีเพดานวงเงินค่ารักษา เหมือนปัจจุบันที่จำกัดเพียงปีละ 600 บาท โดยต้องรักษาตามความจำเป็น และผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน

จากข้อเรียกร้องของผู้ประกันตนกรณีสิทธิทันตกรรมที่มีการสำรองจ่าย และกำหนดวงเงิน 600 บาทต่อปีนั้น เกิดคำถามว่า ที่ผ่านมา มีการสำรวจปัญหาการเข้าถึงของผู้ประกันตนด้วยหรือไม่ แน่นอนว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับสวัสดิการและอนามัยไว้เมื่อปี 2550-2558 และทางสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือ IHPP โดย ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี นักวิจัยอาวุโสของ IHPP ได้นำมาวิเคราะห์กรณี “การเข้าถึงบริการทันตกรรม” ในแต่ละหลักประกันสุขภาพ ทั้งสิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

Advertisement

ผลการศึกษาในภาพรวมการเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนไทยพบว่า คนไทยเข้าถึงบริการปี 2558 ในสัดส่วนร้อยละ 8 ของทั้งประเทศหรือเฉลี่ยคนละ 0.08 ครั้งต่อคน ทั้งนี้ หากแบ่งย่อยเป็นรายสิทธิเปรียบเทียบในปี 2556 และ 2558 จะพบว่า สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะอยู่ที่ร้อยละ 13.10 ในปี 2558 และร้อยละ 16.12 ในปี 2556 สิทธิประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 10.2 ในปี 2558 และร้อยละ 12.03 ในปี 2556 และสิทธิบัตรทองอยู่ที่ร้อยละ 7 ในปี 2558 และร้อยละ 8.21 ในปี 2556

ส่วนการเข้าถึงบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนตามเศรษฐานะนั้น จะพบว่า ในปี 2558 ถ้าแบ่งกลุ่มที่มีฐานะตั้งแต่รายได้น้อยที่สุดไปจนถึงรายได้มากที่สุด ใน 5 กลุ่ม โดยพบว่า กลุ่มรายได้น้อยที่สุดเข้าถึงบริการร้อยละ 7.73 กลุ่มที่มีรายได้น้อยรองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.29 และกลุ่มรายได้ปานกลางร้อยละ 8.82 ขณะที่กลุ่มรายได้มากเข้าถึงบริการร้อยละ 12.74 และกลุ่มรายได้มากที่สุดเข้าถึงบริการร้อยละ 14.17

ทั้งนี้ จากกราฟการแบ่งกลุ่มของผู้ประกันตนที่มีรายได้แตกต่างกัน จะเห็นว่า ผู้ประกันตนคนทำงานที่มีรายได้มากที่สุดจะเข้าถึงบริการมาก ขณะที่กลุ่มรายได้น้อยจะเข้าถึงบริการน้อย จากผลการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยได้ให้ข้อมูลว่า การแบ่งตามกลุ่มรายได้ 5 กลุ่ม แสดงเห็นว่าคนรายได้น้อยเข้าถึงบริการทันตกรรมต่ำกว่า หากมุ่งช่วยกลุ่มนี้ มาตรการสำรองจ่ายอาจมีส่วนต่อการเข้าถึง เพราะส่วนหนึ่งต้องลางานในการไปเบิกเงินกับ สปส. อย่างไรก็ตาม หากจะเพิ่มวงเงินเพียงอย่างเดียว แม้จะทำให้กลุ่มผู้ประกันตนมีความสะดวกกว่าสิทธิกลุ่มอื่น เนื่องจากข้อดีของประกันสังคมอยู่ที่ไปรับบริการคลินิกเอกชนได้ แต่อุปสรรคคือ การสำรองจ่ายนั่นเอง เพราะกลุ่มรายได้น้อย การสำรองจ่ายเงินไปก่อน แม้เพียงเล็กน้อยก็สำคัญ ทำให้เขาเสียงานต้องไปเบิกเงิน ส่งผลต่อรายได้ที่ควรได้รับ

Advertisement

ในการสำรวจยังเปิดเผยถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการด้วย โดยพบว่า สิทธิทันตกรรมของผู้ประกันตนนั้น ปัจจุบันมีผู้เข้าถึงบริการ จำนวน 1,096,183 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการอยู่จำนวน 682,841 คน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และกลุ่มที่ไม่ใช้สิทธิสวัสดิการที่มีอีก 413,342 คน หรือร้อยละ 37.7 จากการสอบถามกลุ่มผู้ได้รับบริการทันตกรรม แต่ไม่ใช้สิทธิที่มี ปรากฏว่า ร้อยละ 43.3 ระบุว่า ช้า รอนาน เสียเวลา ขณะที่ร้อยละ 31.8 มองว่าสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ อาทิ สถานพยาบาล และวงเงิน ขณะที่ร้อยละ 15.3 มองว่าไม่สะดวกไปในเวลาทำการ และร้อยละ 3.5 มองว่าสถานพยาบาลอยู่ไกล เดินทางไม่สะดวก และร้อยละ 1.4 คิดว่าเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามกลุ่มที่มีความต้องการรักษา แต่ไม่ได้รับบริการ พบว่า ร้อยละ 49.7 ไม่มีเวลาไปรับบริการ ร้อยละ 3.9 เดินทางไม่สะดวก อยู่ไกล และร้อยละ 4.1 ไม่มีเงินจ่ายค่าบริการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข ได้มีการหารือกันเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว และมองว่าปัญหาการเข้าถึงสาเหตุหลักมาจากการสำรองจ่ายก่อน ดังนั้น หากระบบไม่มีการสำรองจ่าย ย่อมทำให้ผู้ประกันตนในภาพรวมไม่ต้องเสียเวลาไปเบิกคืน และจะทำให้ผู้ประกันตนเข้าไปรับบริการทันตกรรมมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย ส่วนเรื่องระบบการตั้งเบิกของคลินิก และสำนักงานประกันสังคมนั้น สามารถใช้ระบบ e card ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางเทคนิก ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อข้อมูลด้วยอินเตอร์เน็ตที่สามารถรองรับการเบิกเงินได้ไม่ยาก

ทั้งหมดทั้งปวง อยู่ที่จะนำผลการสำรวจนี้ ไปวิเคราะห์ถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง

ไม่รู้จริงจังแค่ไหน แต่ต้องติดตาม…

lif01020459p1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image