เปลี่ยนปฏิทินเพาะปลูกตามอากาศ เชื่อมั่น 543 หมู่บ้านรับมือภัยแล้งได้

 

 

เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มั่นใจ 543 หมู่บ้านทั่วประเทศ น้อมนำแนวพระราชดำริ จัดการน้ำชุมชนผ่าน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ” รับมือได้ทั้งแล้งและท่วม ปรับตัว เปลี่ยนปฏิทินเพาะปลูกตามสภาพอากาศ

เวลา 17.30 น.วันที่ 12 มกราคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ.2559 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จโอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นำผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จำนวน 56 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ. 2559 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์มูลนิธิอุทกพัฒน์

Advertisement

นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่า มูลนิธิฯได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เผยแพร่ และสนับสนุนให้ชุมชนสามารถดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำแบบพึ่งตนเอง น้อมนำหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ไปเผยแพร่ให้แต่ละชุมชนเข้าใจถึงหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เน้นการพัฒนาจากล่างขึ้นมาข้างบน จากชุมชนเล็กๆ ขยายสู่ระดับตำบลและอำเภอ โดยถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความสำเร็จของชุมชนต่างๆ ผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อขยายผลความสำเร็จออกสู่สาธารณะนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2555 จนถึง ปี พ.ศ. 2558 โดยดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ผ่าน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” รวม 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้จากพื้นที่จริง และดำเนินงานพัฒนา ฟื้นฟู ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ร่วมกับ 60 ชุมชนแกนนำ ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ ขยายผลสู่ 543 หมู่บ้าน สามารถบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ประมาณ 364,600 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 1.60 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับใช้ยามฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง รวม 54.16 ล้านลูกบาศก์เมตร จากภัยแล้งปี 2557 ถึง 2558 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 24 ชุมชนแกนนำที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ยังคงมีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตร สร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร กว่า 1,300 ล้านบาทในปี 2559

“ผมมั่นใจว่า ทั้ง 543 หมู่บ้าน มีระบบบริหารจัดการน้ำที่เราเข้าไปทำงานด้วยมานั้น จะสามารถรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 และในอนาคตข้างหน้าได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก เพราะมีระบบการจัดการพื้นที่ ที่ดี ไม่เพียงแต่รับมือเรื่องภัยแล้งได้เท่านั้น แต่จะสามารถรับมือกับผันแปรของฤดูกาลได้อย่างดี หลักการที่ดำเนินการก็คือ การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแบบพึ่งตนเอง โดยใช้ข้อมูล สมดุลน้ำ บริหารจัดการน้ำ ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”นายรอยล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image