3กระทรวงนัดถกแก้กฎหมาย’สปสช.-สสส.’ ปมร่วมจ่าย-จำกัดงบอุดหนุน

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพฯจับตามองหลังหัวหน้า คสช.สั่ง 3 รมว.’ยุติธรรม-สาธารณสุข-คลัง’ รื้อ กม.’สสส.-สปสช.’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในแวดวงสาธารณสุขได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปรับแก้กฎหมายด้านสุขภาพครั้งใหญ่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ยธ 0914/665 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 ลงนามโดยนายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการสำนักกิจการยุติธรรม ส่งถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อเชิญประชุมหารือพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

โดยหนังสือระบุว่า ด้วยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ให้เกิดความยั่งยืน โดยมีผลบังคับใช้ภายในกรอบระยะเวลาก่อนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรองประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เห็นควรให้มีการจัดประชุมเพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไปในคราวเดียวกัน จึงขอเชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในวันที่ 11 เมษายน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และตัวแทนประชาคมสาธารณสุข กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลชุดนี้เล็งเห็นความสำคัญในการปรับแก้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากโดยหลักการกฎหมายควรมีการปรับปรุงทุกๆ 10 ปี แต่สำหรับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายด้านสุขภาพที่ส่งผลต่อประชาชนกลับไม่มีการปรับแก้ และยังมีปัญหาเหมือนอย่างกระแสข่าวที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเกินขอบเขต จนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องเข้ามาตรวจสอบ จึงถึงเวลาที่ต้องมีการปรับปรุงได้แล้ว ซึ่งในส่วนของ สพศท.และประชาคมสาธารณสุข ได้มีการหารือกันและจะขอเข้าร่วมเพื่อเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วย เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เริ่มจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ผ่านมาให้อำนาจคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มากจนเกินไป มีการตั้งกองทุนปลีกย่อยมากมาย บางกองทุนก็ไม่ชัดเจน แต่มีการตั้งงบเบิก อาทิ การผ่าตัดต้อกระจกระบุว่ารายละ 7,000 บาท แต่ไม่กำหนดว่าจำนวนเท่าไร หนำซ้ำยังเปิดช่องให้หน่วยบริการเอกชนเข้ามาทำอีก ส่งผลให้งบบานปลาย เมื่องบไม่พอ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไปดึงจากงบผู้ป่วยในมาจ่าย กลายเป็นปัญหาค่าใช้จ่ายงบกองทุนอีก

Advertisement

“ประเด็นเรื่องการร่วมจ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยแน่นอนว่าคนที่ไม่สามารถจ่ายได้ต้องไม่เรียกเก็บ แต่คนมีฐานะพอจ่ายได้ก็ต้องเก็บเงิน จะไม่ยอมจ่ายไม่ได้ เพียงแต่การร่วมจ่ายไม่ใช่ ณ จุดบริการ ซึ่งจะเป็นการร่วมจ่ายก่อนเข้ารับบริการ อาจมาในรูปแบบประกันสุขภาพก็ได้ เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาก มีแนวทางมากมาย ซึ่งทางกลุ่มเห็นด้วยและจะขอเสนอต่อกระทรวงยุติธรรม” พญ.ประชุมพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การร่วมจ่ายอาจถูกกระแสคัดค้าน ที่ปรึกษา สพศท.กล่าวว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ฉบับปัจจุบัน ระบุชัดเจนว่า “คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนด เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ” ซึ่งกฎหมายเขียนชัด แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้น หากจะทำก็สามารถทำได้ เพียงแต่ในการแก้กฎหมายใหม่ อาจต้องชัดเจน และต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ดี ส่วนการแก้กฎหมายของ สสส.นั้น ทาง สพศท.เคยเสนอต่อรัฐบาลขอให้ปรับแก้มานาน แต่เมื่อมีสัญญาณเช่นนี้ ต้องขอขอบคุณ เพราะ สสส.เป็นองค์กรที่ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 4 พันล้านบาท จากเริ่มแรกพันกว่าล้านบาท จึงควรกำหนดเพดานการใช้งบไม่ให้เกินจากปัจจุบันที่ได้ประมาณ 4 พันล้านบาท เพื่อให้อนาคตหากได้ภาษีเพิ่มก็ควรจัดสรรไปให้หน่วยงานอื่นได้นำงบไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ และการจัดสรรงบให้ สสส.นั้นควรผ่านกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ยิงตรงองค์กรแบบที่ทำกันมาหลายสิบปี

แหล่งข่าวกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพฯกล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกำลังจับตาว่าการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำลายหลักการใหญ่ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าจะถอยหลังกลับไปเป็นระบบสงเคราะห์ มีการแบ่งแยกคนจน คนรวย และมีการร่วมจ่ายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหากเป็นจริงจะส่งผลกระทบมาก เพราะต้องมาแบ่งคนรวยกับคนจน แบบนี้การให้บริการจะเกิดความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้นแนวทางการเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ขอรอภายหลังการประชุมก่อน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้บริหารของ สปสช.ซึ่งได้รับคำตอบว่า ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงยุติธรรม แต่ทราบมาว่าทาง สสส.ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อ ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. เนื่องจากติดภารกิจไปต่างประเทศ

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้จากปัญหาที่ สตง. รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น ทั้งเรื่องการจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการบริการ การที่ รพ.นำงบเหมาจ่ายรายหัวจากระบบหลักประกันสุขภาพฯ (บัตรทอง) ไปใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานให้กับ รพ.ที่เกี่ยวข้องกับล้างไตผ่านทางช่องท้อง ทำให้งานติดขัดนั้น เดิมทีทราบว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลมีการหารือเรื่องนี้ และเตรียมจะแก้ปัญหาโดยอาจออกคำสั่ง คสช. อาศัยอำนาจของมาตรา 44 มาดำเนินการแก้ปัญหาก่อน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการออกคำสั่งดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เพราะการแก้กฎหมายต้องใช้เวลานาน ขณะนี้ในแวดวงสาธารณสุขกำลังติดตามว่าสุดท้ายจะออกมารูปแบบใด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการประชาชน

ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image