‘แห่กันเที่ยว เดี๋ยวก็พัง’ ขยะกับการท่องเที่ยวไทย

ช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ความสนุกสนานในการท่องเที่ยวก็มาพร้อมกับปัญหา โชคดีที่ได้ปลัดกระทรวงใหม่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคือ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ที่มีดวงตาเห็นธรรมเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งมารับงานใหม่ว่า ประเทศกำลังประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอในการรองรับการท่องเที่ยว หรือพูดในอีกนัยหนึ่งได้ว่า การท่องเที่ยวของเรามีปัญหาด้านซัพพลายมากกว่าดีมานด์ซึ่งที่จริงก็เป็นมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่เดิมปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงหยุดเทศกาล หรือวันหยุดยาวที่มีการท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันปัญหาเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น และในยุคที่การท่องเที่ยวไทยเข้าสู่ยุคใหม่ คาดว่าปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าไทยมากถึง 10 ล้านคน จากที่เคยมาเพียงล้านคนเศษในปี 2555 และทางรัฐบาลเองก็ต้องรับมือกับปัญหาตั้งแต่การบุกรุกที่สาธารณะ จนถึงการขาดแคลนสาธารณูปโภคที่แม้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวมากขนาดนั้น แต่ก็ยังถือว่าไม่ดีพอสำหรับคนท้องถิ่น

แหล่งท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และการบริหารจัดการเท่าที่ผ่านมาก็ทำได้ในระดับหนึ่ง เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือวัดใหญ่ๆ ซึ่งรองรับคนได้ไม่มากนัก แต่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้าโดยไม่คำนึงถึงอัตรารองรับ (carrying capacity) ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น ในประเทศจีนรับนักท่องเที่ยวในระดับหลักหมื่น เช่น อุทยานแห่งชาติจิ่วไจ้โกวของจีนในช่วงตรุษจีนต้องรับนักท่องเที่ยวถึง 200,000 คน ในช่วง 3 วัน

แต่จีนมีการจัดการที่เป็นระบบ นักท่องเที่ยวต้องมีวินัยตั้งแต่การเข้าเที่ยวในอุทยานที่มีรถบัสรองรับจอดเป็นที่ มีร้านรับประทานอาหารหลายระดับราคาเป็นที่เป็นทาง ไม่เปิดให้มีการปิกนิกทั่วไปแล้วทิ้งขยะไปเสียทุกแห่ง มีการสร้างทางเดินที่แข็งแรงได้มาตรฐาน หากมีราวจับก็จะเป็นเหล็กหุ้มปูน เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติโดยไม่คลอนแคลนเหมือนราวเหล็กสนิมเกาะและราวไม้ไผ่ของเรา ทางเดินก็ออกแบบให้ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น ถ้าเป็นน้ำตกก็สามารถเดินไปตามชานชาลาที่เป็นทางเดินจนใกล้ละอองน้ำที่กระเซ็นมาถูกตัว แต่ก็ไม่สามารถยื่นมือไปดึงทึ้งใบไม้ต้นไม้ได้ บันไดมักจะปูด้วยหินแกรนิตที่พื้นผิวหยาบไม่ลื่น มีขนาดกว้างสวนกันได้สบาย มีความสูงของแต่ละขั้นได้มาตรฐาน ไม่ต้องอาศัยการโหน เหนี่ยว รั้งกิ่งไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งผู้บริหารของไทยควรศึกษาและนำกลับมาใช้

ปัญหาหลักของการส่งเสริมการท่องเที่ยวก็คือขยะ ในช่วงวันหยุดเทศกาลขยะแทบจะท่วมอุทยานแห่งชาติทีเดียว เฉพาะอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ในช่วงวันหยุดยาวเดือนตุลาคมมีขยะถึง 36 ตัน แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนั้นอาศัยการปล่อยขยะลอยไปกับทะเล เช่น ร้านอาหารที่เกาะปันหยี แต่ไม่ต้องห่วงหรอกค่ะว่าคนไทยจะรอดตัวไปโดยไม่รับผิดชอบ เพราะจะมีขยะลอยกลับเข้าฝั่งอีก เพียงแต่จะไม่กลับที่เดิมเท่านั้น ในบางจังหวัดเช่น พังงา ชายฝั่งมีขยะเข้าฝั่งมากจนบางพื้นที่ถูกขนานนามว่าบางขยะ ที่ชลบุรีก็มีข่าวขยะลอยมาติดชายหาดบางแสนทุกปี ที่เกาะยาวน้อยชาวบ้านเล่าว่าเคยเห็นโรงแรมเอาถุงดำที่ใส่ขยะไปทิ้งทะเล

Advertisement

สำหรับอุทยานแห่งชาติการบริหารจำนวนผู้มาเยือนในเชิงเศรษฐศาสตร์ใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อจำกัดจำนวนให้พอกับกำลังรองรับ แต่การเก็บค่าธรรมเนียมอุทยานควรมีบริการที่มีความคุ้มค่า เมื่อผู้เขียนไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาก็พบห้องน้ำที่ไม่มีน้ำ มีเศษปฏิกูลและกลิ่นเหม็นจนต้องวิ่งหนีออกมา ถ้าบริหารเช่นนี้ค่าธรรมเนียมที่เก็บอยู่อาจจะแพงไป

นอกจากขยะในแหล่งท่องเที่ยวแล้ว เมื่อมาดูระดับจังหวัดจะเห็นว่า แนวโน้มตลาดท่องเที่ยวของจังหวัดและปริมาณขยะต่อคนจะมีความสัมพันธ์กัน แนวโน้มตลาดท่องเที่ยวดี ปริมาณขยะต่อหัวต่อคนก็จะสูง (ตารางที่ 1) ทั้งภูเก็ตและชลบุรี (แหล่งท่องเที่ยวคือพัทยา) มีขยะต่อหัวใกล้เคียงกับ กทม. (1.53 กิโลกรัมต่อหัวต่อคน) คือเกินเกณฑ์มาตรฐานไปกว่า ครึ่งกิโลกรัมต่อหัวต่อคน และทุกจังหวัดของเมืองท่องเที่ยวหลักมีขยะเกินมาตรฐานทั้งนั้น สุราษฎร์ธานีและเชียงใหม่มีขยะน้อยกว่าที่อื่นเพราะเป็นจังหวัดที่มีขยะที่ไม่ได้กำจัดและมีขยะในเขตชนบทอีกมากที่ไม่ได้เอามารวม

act01220159p3

Advertisement

เมืองก็สร้างขยะมหาศาลเหมือนกัน กทม. สร้างขยะปีละเกือบ 4 ล้านตัน เทศบาลทั้งหมดรวมกันสร้างขยะ 10.7 ล้านตัน และ อบต. 11.52 ล้านตัน ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานของขยะของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ที่ 0.8 กก.ต่อคนต่อวัน แต่ขยะจากโรงแรม 5 ดาวที่ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำการศึกษาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้นั่งไปกับรถขยะเพื่อวัดปริมาณขยะ พบว่าที่เชียงแสนสูงถึง 1.7 กก.ต่อคนต่อวัน แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีการบริการด้านขยะให้แก่ประชาชน แต่ร้อยละ 31 เป็นการบริการโดยไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ขยะเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องรกรุงรังสายตา ทำลายปะการังและสัตว์น้ำ แต่ยังเป็นแหล่งสะสมพาหะและบ่อเกิดของโรค น้ำจากกองขยะอาจจะไหลลงไปปนเปื้อนแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ทำให้คุณภาพน้ำกินน้ำใช้เลวลง

หน้าที่การบริหารจัดการการท่องเที่ยวในยุคใหม่จะไม่ใช่การหาตลาดอีกต่อไป แต่เป็นการบริหารอุปทานและจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกินกำลังรองรับ เพราะแค่คนจีนประเทศเดียวก็แทบจะรับมือไม่ไหว แต่รัฐต้องมองการจัดการท่องเที่ยวเป็นการจัดการเมืองให้น่าอยู่เพราะเมืองน่าอยู่เท่านั้นจึงเป็นเมืองน่าเที่ยว หากจะหวังให้ประเทศไทยขายเมืองท่องเที่ยวได้โดยคนไทยไม่เดือดร้อน เมืองต่างๆ ของเราต้องเป็นเมืองที่มีสุขภาวะดี หานวัตกรรมการจัดการที่ดี เช่น การจัดการขยะเมืองจะได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน ฯลฯ แต่ต้องบริหารวาระแห่งชาติด้านขยะแบบมี project manager ในทุกจังหวัดให้ไปตามเข็นตามจี้ตามผลงานกลับมา

ถ้าจะคิดว่าสั่งไปแล้วทุกคนต้องทำตาม ไม่เกิดขึ้นในประเทศนี้หรอกค่ะ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image