“เอ็นจีโอ-นักวิชาการ” หนุนแก้ กม. “สปสช.-สสส.” เพื่อความโปร่งใส ไร้ผลปย.ทับซ้อน

อจ.นิด้าเชียร์รื้อกฎหมาย สสส. ชูโปร่งใสและไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน เปิดช่องหน่วยงานใช้เงินโดยตรง แนะผ่านระบบงบประมาณ ด้านกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพฯหนุนแก้ พ.ร.บ.สปสช.

สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญประชุมหารือเพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ พร้อมทั้งเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมหารือในวันที่ 11 เมษายน ขณะเดียวกันมีกระแสในสังคมทั้งจากกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 3 เมษายน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ไม่คัดค้านหากจะแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แต่ต้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งภาคประชาชนมีส่วนในการช่วยยกร่างมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น การแก้ไขมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา ประกอบกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯปัจจุบัน อาจติดขัดในเรื่องการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้ให้บริการคือสถานพยาบาล และผู้รับบริการหรือผู้ป่วย ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ และมีการตีความมากมายว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถบริหารงบบางอย่างได้เพราะขัดกฎหมาย ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์

“ยกตัวอย่าง กรณีจ่ายค่าเยียวยาให้แก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ เช่น พยาบาลเกิดอุบัติเหตุระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางรถพยาบาล หากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ถือว่าสมควร แต่หากจะไปแก้ไขที่เกินมากกว่านี้ก็ต้องพิจารณาเป็นข้อๆ อาทิ เรื่องการหาแหล่งเงินเข้ากองทุนเพิ่ม จุดนี้มีความเป็นห่วงมาก เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกมาในลักษณะร่วมจ่ายหรือไม่ หากจะร่วมจ่ายจริง ก็ต้องดูว่าเป็นลักษณะใด เครือข่ายมีจุดยืนคัดค้านการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ควรใช้วิธีทางภาษีดีกว่า อย่างการเก็บภาษีส่วนต่างในตลาดหุ้น” น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกถึงความเป็นห่วงในการแก้กฎหมายนี้หรือไม่ น.ส.สุรีรัตน์กล่าวว่า ขอรอดูการประชุมในวันที่ 11 เมษายนนี้ก่อน เพราะยังไม่ทราบว่ามีอะไรที่จะปรับแก้บ้าง และเห็นว่าในการประชุมวันดังกล่าว เมื่อมีผลสรุปอย่างไรควรแจ้งต่อสาธารณะรับทราบด้วย เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวข้องกับประชาชน ควรเปิดเผยเรื่องนี้ และอยากเรียกร้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ด้วย หากผลการประชุมไม่มีการเปิดเผย ทางกลุ่มและเครือข่ายจะหารือกันเพื่อแสดงออกอย่างสันติ อาจเดินทางเพื่อถามถึงความคืบหน้าการแก้กฎหมายนี้ต่อกระทรวงยุติธรรมด้วย

นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะมาแก้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ กรณี พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สิ่งสำคัญต้องแก้กฎหมายทำให้โปร่งใสและไม่ให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่แค่แก้ระเบียบซึ่งไม่เพียงพอ ในฐานะได้ติดตามการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่าที่ผ่านมา สสส.ขาดการประเมินผลงานที่ชัดเจน หมายความว่าต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานจากผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ได้กลับมา เช่น การสนับสนุนให้คนออกกำลังกายลดปัญหาไขมันส่วนเกินลดความเสี่ยงความดันโลหิต ต้องมีการประเมินให้ชัดเจนว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีผลลัพธ์ทางสุขภาพกลับมาดีอย่างไร เมื่อเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ หรือเอ็นไอเอช (National Institutes of Health : NIH) สหรัฐอเมริกา ก็มีการประเมินแบบนี้ ประเทศไทยควรทำด้วยเช่นกัน รวมทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณควรเข้าสู่ระเบียบงบประมาณผ่านกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ให้งบโดยตรง เพราะมีกฎหมายพิเศษเหมือนที่ผ่านมา

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในการหารือพิจารณาแก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 วันที่ 11 เมษายน เรื่องแก้ไขกฎหมายสุขภาพนั้น โดยหลักการกฎหมาย ทุกหน่วยงานจะต้องทบทวนการแก้ไขและปรับปรุง พ.ร.บ.ต่างๆ ทุก 5 ปี กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานหลักในการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับตระกูล ส. ที่ผ่านมาศึกษาไว้อยู่แล้ว พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ใช้งานมานานกว่า 10 ปี ตามหลักการมีบางประเด็นต้องแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

Advertisement

ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image