เหยี่ยวถลาลม : มรดกความรุนแรง

เมื่อเรื่อง “ดูด” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์จุดไฟให้ได้ถกแถลงกันถึงข้อดีหรือไม่ดีอย่างไร วงสนทนาต่างๆ ก็คึกคักขึ้นโดยพลัน

บ้างก็ว่า เพื่ออนาคตที่มั่นคงแน่นอนกว่า “ดูดเถอะนะออเจ้า” หาไม่แล้ว ถึงแม้จะมี “กติโกง” เป็นมั่นเหมาะชวนให้มั่นใจว่า “ชนะแน่”

แต่ในโลกนี้หามีอะไรแน่นอนไม่

ดูการเกิดขึ้นของ “พรรคสามัคคีธรรม” ภายหลังรัฐประหาร 23 ก.พ.2534 เป็นตัวอย่าง

Advertisement

“สามัคคีธรรม” เกิดจากการดูดเอานักการเมืองจากพรรคต่างๆ ไปรวมกัน พอหลังเลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 เมื่อปรากฏว่า “สามัคคีธรรม” ชนะเลือกตั้ง แม้จะมีแค่ 70 กว่าเสียง ก็ถือสิทธิ “ข้างมาก” ได้โอกาสผนึกรวมกับอีก 4 พรรคการเมือง อันมี ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร รวม 195 เสียง ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

อุดมการณ์คือเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

นั่นเป็นไปเพื่อเปลี่ยนจาก “ปืน” มาเป็น “รัฐสภา”

Advertisement

ในสายตาของนักความมั่นคงว่า พวกที่ขี้แพ้ อิจฉาริษยาพากันจุดไฟโหมกระพือประท้วงขับไล่จนกระทั่งเกิดเหตุ “พฤษภาทมิฬ’35”

ถามว่า วันนั้นกับวันนี้ต่างกันที่ตรงไหน!?

เป้าหมายของ รสช.เมื่อ “23 ก.พ.2534” คือหลังจากยึดแล้วก็เปลี่ยนรูปจากคณะรัฐประหารเป็นคณะรัฐบาลที่มีรัฐสภารองรับ

รัฐประหารของ คมช.เมื่อ “ก.ย.2549” เสียของ

“คสช.” จะกอบกู้

“ดูด” นี้จึงเพื่อสืบทอด “อำนาจบริหาร” เอาไว้ในมือต่อไป โดยมี “รัฐสภา” เป็นเวที

ใครจะว่า “ดูด” เป็นกลเกมการเมืองเดิมๆ ที่มีมุ่งแต่เพียง “อำนาจ” กับ “ผลประโยชน์” หรือว่าดูดทำให้การเมืองไทยไม่พัฒนาก็ปล่อยให้ว่ากันไปก่อน

ใครจะด่าใครจะว่า 4 ปี คสช.ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ก็ปล่อยไปก่อน

“คณะทำงาน” อันมีหน้าที่ทั้งหลายของ “นาย” ที่แฝงฝังอยู่ในระบบราชการยังคงเดินหน้าปฏิบัติการต่อไปเพื่อไม่ให้ “เสียของ” โดยมีความล้มเหลวของ “รสช.” กับ “คมช.” เป็นบทเรียน

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวเอาไว้ไม่มีผิด

“ประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความรุนแรงตามมา”

สังคมไทยมักให้อภัยกับคนมีปืนเสมอ

จึงสับสนงุนงงระหว่างอุดมการณ์ “ความมั่นคงภายใน” กับ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” !?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image