ผู้ชายคนนี้กลับมาแล้ว ! ‘จูดี้-พงศพัศ’ คัมแบ๊ก จัดระเบียบ ‘เจ้าจ๋อ’

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามกลไกการปกป้องคุ้มครองสัตว์ เปิดเผยถึงรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤต ซึ่งคณะอนุกรรมการได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาพิพาทระหว่างคนกับลิง รวมทั้งความเดือดร้อนรำคาญที่เกิดจากลิงในปัจจุบัน ได้แผ่ขยายไปในหลายพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ในพื้นที่ที่ถือว่า อยู่ในขั้นวิกฤตและจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยทันทีมีอยู่ทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กระบี่ ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต มุกดาหาร สตูล สระบุรี อำนาจเจริญ และเขตบางขุนเทียน กทม.

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า รายงานผลการศึกษาได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ 9 กลยุทธ์ และกิจกรรมหลักในด้านต่างๆ ที่แต่ละจังหวัดจะต้องนำไปเร่งรัดดำเนินการตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ ประชาชนสุขใจ ลิงปลอดภัย อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนŽ

“แม้ว่าลิงจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ แต่การแก้ไขปัญหาลิงมีความจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากการทุกภาคส่วน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาลิงที่ จ.ลพบุรี เป็นแห่งแรก ซึ่งคณะอนุกรรมการได้ร่วมกับทุกหน่วยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงใน จ.ลพบุรี อย่างยั่งยืนŽ และได้ส่งมอบแผนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เพื่อนำไปขับเคลื่อนตั้งแต่ 24 เมษายน 2560” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเพิ่มเติมของคณะอนุกรรมการพบว่า ปัญหาพิพาทระหว่างมนุษย์กับลิงนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ใน จ.ลพบุรีเท่านั้น แต่ได้กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ที่อยู่ในภาวะวิกฤตกระจายตัวอยู่ใน 12 จังหวัด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากลิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการที่ลิงทำร้ายร่างกายและแย่งชิงทรัพย์สิน หรือบุกเข้าไปยังบ้านเรือน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งของเครื่องใช้ บางส่วนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัยหรือทำมาค้าขาย นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยเฉพาะจากการสัมผัสและการอยู่ใกล้ชิดกับลิง ในขณะเดียวกันก็มีลิงเป็นจำนวนไม่น้อยที่มักจะได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำร้ายจากผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ถือเป็นข้อพิพาทระหว่างคนและลิงที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วนทั้งสิ้นŽ

Advertisement

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ จนถึงขณะนี้ พบว่ามีลิงอยู่ไม่น้อยกว่า 100,000 ตัว โดยลิงแสมŽ เป็นลิงที่สร้างปัญหารบกวนประชาชนมากที่สุด เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ลิงและคนเริ่มมีข้อพิพาทและมีปัญหาความเดือดร้อนรำคาญต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากลิงนั้น สืบเนื่องมาจากที่อยู่อาศัยตามตามธรรมชาติเดิมของลิงถูกรุกล้ำหรือคุกคาม โดยเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยหรือเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ บางพื้นที่เป็นลักษณะพื้นที่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเดิมของลิงถูกล้อมรอบหรือทับซ้อนด้วยพื้นที่ของชุมชน มีผลทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอาหารตามธรรมชาติเพียงพอ ลิงต้องเข้าไปในชุมชนเพื่อหาอาหาร มีการเข้าไปรื้อหรือทำลายทรัพย์สินในบ้านเรือน หรือบางครั้งมีการทำร้ายคนด้วย โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีการให้อาหารลิงจนทำให้พฤติกรรมของลิงเบี่ยงเบนไป และที่สำคัญคือ จำนวนประชากรของลิงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ ซึ่งมีผลทำให้การควบคุมดูแลเป็นไปได้โดยยาก

“ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤตทั้ง 12 จังหวัด คณะอนุกรรมการได้นำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการให้ได้ผลโดยเร็ว ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลิง 2.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของลิง และ 3.ยุทธศาสตร์การบูรณาการแก้ปัญหาลิง โดยในแต่ละยุทธศาสตร์จะประกอบด้วยกลยุทธ์และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การควบคุมประชากรลิงด้วยการทำหมัน การฟื้นฟูระบบนิเวศเดิมให้ลิงสามารถอยู่ได้ในถิ่นฐานเดิม การจัดทำฐานข้อมูลในการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพลิง รวมทั้งการนำองค์ความรู้ในการลดปัญหาและข้อพิพาทเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ เช่น การให้อาหารลิงในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น เป็นต้น” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

พล.ต.อ.พงศพัศยังกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างนิคมลิงŽ เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับลิงบางส่วนที่จำเป็นจะต้องย้ายออกมาจากพื้นที่ ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นจะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากจำนวนประชากรลิงที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้กับชุมชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเป็นเงาตามตัว การย้ายลิงบางส่วนออกไปไว้ในนิคมลิงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจำนวนลิงส่วนเกินและลิงที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวสร้างปัญหาความเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาทกับประชาชน โดยก่อนการโยกย้ายจะมีการทำหมันและพิจารณาเกี่ยวกับสวัสดิภาพลิงอย่างรอบด้าน

Advertisement

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า จ.กระบี่ ตรัง สตูล ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และภูเก็ต มีเกาะตามธรรมชาติที่อยู่ห่างไกลชายฝั่ง รวมทั้งสิ้น 191 เกาะ ซึ่งจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยความพร้อมของระบบนิเวศที่ลิงจะสามารถอยู่อาศัยได้โดยด่วนต่อไป โดยมีการพิจารณาทั้งในเรื่องของพืชอาหาร แหล่งน้ำ แหล่งหากินทางทะเล และปัจจัยคุกคามการดำรงอยู่ของลิงอันเกิดจากมนุษย์และสัตว์ป่า ซึ่ง จ.ภูเก็ต ได้ทำการศึกษาเสร็จสิ้นไปแล้ว 5 เกาะ ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะมาลีหรือมะลิ เกาะแพ และ เกาะทะนาน ส่วนที่ จ.สตูล ก็ได้ดำเนินการสำรวจแล้วที่เกาะโกยใหญ่ โดยเกาะทุกแห่งที่ผ่านการสำรวจแล้วสามารถนำไปสร้างนิคมได้ต่อไป ส่วนจ.ลพบุรี ซึ่งไม่มีพื้นที่เกาะก็ได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่บริเวณเขาพระยาเดินธง เขาสมโภชน์ และเขาเอราวัณ เพื่อสร้างเป็นนิคมลิงต่อไป

“วันที่ 16 พฤษภาคม จะมีการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ สนช. โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.และนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาปกป้องคุ้มครองสัตว์ จะเข้าร่วมสัมมนากับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 12 จังหวัด รวมทั้งผู้บริหารของกรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการนำแนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤต ตามที่คณะอนุกรรมการได้จัดทำขึ้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผลโดยเร็ว ก่อนที่ปัญหาพิพาทระหว่างคนกับลิง และปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ จะลุกลามขยายตัวออกไปจนไม่อาจควบคุมได้” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image